คำสั่งคำร้องที่ 549/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 จึงไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยเห็นว่า อุทธรณ์ที่ว่า คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางไม่ได้แสดงเหตุผลในการวินิจฉัยให้แจ้งชัดแน่นอน ขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 51 ว่าใบผ่านคลังสินค้าตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย ล.2 ได้ปลิวสูญหายไปเมื่อใด โดยวิธีการใด และ อุทธรณ์ที่ว่า คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ว่าเอกสารหมาย ล.2 อาจจะปลิวสูญหายจากการดูแลของพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ ย่อมถือได้ว่าโจทก์บกพร่องต่อหน้าที่และประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ล้วนเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายโปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์แถลงคัดค้าน (อันดับ 43)
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 72,900 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 19,440 บาท ค่าเสียหายเป็นเงิน180,000 บาท และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงิน 56,978.18บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าว (อันดับ 33)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า จำเลยมิได้นำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 จึงไม่รับต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2537 จำเลยยื่นคำแถลงว่าจำเลยมีความประสงค์วางเงินต่อศาลเป็นจำนวนเงินตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งคำร้องหรือคำพิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่ารับไว้และมีคำสั่งในคำร้องนี้ว่า จำเลยนำเงินตามคำพิพากษา มาวางต่อศาลแล้ว จึงให้รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนี้ ส่งศาลฎีกา พิจารณา (อันดับ 36,37)

คำสั่ง
จำเลยอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่ว่าใบผ่านคลังสินค้าตามใบกำกับสินค้า เอกสารหมาย ล.2″อาจจะปลิวสูญหาย” โดยไม่ชี้หรือระบุว่าปลิวสูญหายไปเมื่อใดวิธีการใด จึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่แน่นอน เพราะอาจจะแปลในทางกลับกันได้ว่า “ไม่แน่ว่าจะปลิวสูญหายในระหว่างการเก็บรักษาของพนักงานรักษาความปลอดภัย” จึงเป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 นั้น เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ให้ยกคำร้อง

Share