คำสั่งคำร้องที่ 438/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้มี ทุนทรัพย์พิพาทไม่เกิน 200,000 บาท และฎีกาของโจทก์เป็นฎีกา โต้เถียงดุลพินิจ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 จึงไม่รับฎีกา
โจทก์เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โดยหยิบยกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง มาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ทั้งที่ประเด็นดังกล่าวมิได้มี ข้อโต้แย้งกันมาในศาลชั้นต้นแต่อย่างใด คำพิพากษาของ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นการแก้ไขในสาระสำคัญมิใช่การแก้ไขเล็กน้อย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 และโจทก์ ฟ้องคดีนี้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2529 ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ใช้บังคับในขณะนั้น คดีโจทก์ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับฎีกาโจทก์ โดยใช้กฎหมายซึ่งออกมาภายหลัง มาใช้บังคับ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายโปรดมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ ไว้พิจารณา และขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียม ในชั้นนี้ของโจทก์ด้วย
หมายเหตุ จำเลยทั้งหกได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 285)
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ 7764 เลขที่ดิน 12 ฉบับลงวันที่ 20 ธันวาคม 2520 ตำบลสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ให้จำเลยทั้งหก ร่วมกันและแทนกันนำเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ออกรังวัดสอบเขตเพื่อแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวด้านทิศตะวันออก อันมีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตก เนื้อที่ 1 งาน 46 ตารางวา แล้วจัดการโอนแล้วส่งมอบให้แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 280)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 282)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สิทธิในการฎีกานั้นจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับขณะยื่นฎีกา คดีนี้ ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะพิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น ในข้อสาระสำคัญอย่างไรก็ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรก ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534มาตรา 18 ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาโจทก์ชอบแล้วให้ยกคำร้อง

Share