แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษนั้นเป็นฎีกาเกี่ยวแก่ดุลพินิจของศาล ต้องห้ามมิให้ฎีกา จึงไม่รับ
จำเลยเห็นว่า ฎีกาของจำเลยฉบับลงวันที่ 26 มีนาคม 2533 เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง การที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ให้ปรากฏในศาลชั้นต้นก็เนื่องจากจำเลยได้กลับคำให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องเพราะได้มีการหลอกลวงชักจูงและศาลชั้นต้นได้พิพากษาจำคุกจำเลยโดยพิจารณาจากรายงานและความเห็นของพนักงานคุมประพฤติ ซึ่งรายงานและความเห็นดังกล่าวเป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นนำมาประกอบการพิจารณาเท่านั้นหาใช่เป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาพิจารณาลงโทษจำคุกจำเลยได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226และการที่โจทก์ยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าลูกระเบิดตามฟ้องยังใช้การระเบิดได้ สามารถสังหารชีวิตมนุษย์ สัตว์ ทรัพย์สินเสียหายได้อย่างร้ายแรง จะฟังว่าเป็นระเบิดตามความหมายของพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 3 ไม่ได้ โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 51 แผ่นที่ 2)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 55,78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32จำคุก 2 ปี จำเลยรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 48 แผ่นที่ 7)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 49)
คำสั่ง
คดีนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 1 ปี จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าลูกระเบิดที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยยังอยู่ในสภาพใช้การระเบิดได้ และสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้นเป็นการฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วในศาลชั้นต้นและโต้เถียงดุลพินิจของศาล เป็นฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกานั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้องของจำเลย