แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีนี้จำเลยยื่นคำฟ้องฎีกาขอให้ศาลฎีการอการลงโทษจำคุกจำเลย เป็นการฎีกาดุลพินิจในการลงโทษของศาลซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุกจำเลย2 ปี ดังนั้นจำเลยจึงจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหาได้ไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องฎีกาของจำเลย
จำเลยเห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากคดีจึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง อีกทั้งการที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันมาลงโทษจำเลยโดยไม่มีประจักษ์พยานอื่นประกอบนั้น เป็นการรับฟังพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนปัญหาที่ว่าตามข้อเท็จจริงในฟ้องอันรับฟังเป็นยุติแล้วนั้นจะฟังได้หรือไม่ว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิดก็เป็นปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 103)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานโดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(3)(7)(8) ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 วรรคสาม นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว (อันดับ 91)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 94)
คำสั่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(3)(7)(8) ให้จำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 วรรคสามดังนี้เป็นการแก้ไขเล็กน้อยจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกการที่จำเลยฎีกาโต้แย้งเกี่ยวกับดุลพินิจของศาลว่า ควรรอการลงโทษให้จำเลยนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง