แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าข้ออ้างตามอุทธรณ์ของจำเลยไม่เป็นสาระแก่คดี ไม่รับอุทธรณ์จำเลย
จำเลยเห็นว่า การที่จำเลยอุทธรณ์ว่า สัญญาประนีประนอมยอมความ ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะได้มีการนำเงินค่าจ้าง สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งโจทก์ที่ 8ที่ 10 และที่ 16 ไม่มีสิทธิได้รับ มารวมคำนวณเพื่อจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 8 ที่ 10 และที่ 16 ด้วยจึงขัดต่อกฎหมายแรงงานซึ่งเป็นกฎหมาย เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน โปรดมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไปด้วย
หมายเหตุ โจทก์ที่ 8 ที่ 10 และที่ 16 ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว(อันดับ 48,47,49)
คดีทั้งสิบหกสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งรวมพิจารณาโดยให้เรียกโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 3727/2535 ถึง3742/2535 ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 16 ตามลำดับ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม ให้จำเลยจ่ายเงิน ช่วยเหลือแก่โจทก์ทั้งสิบหก โดยจำเลยจะนำเงินมาวางที่ศาลนี้ภายในวันที่ 6 ตุลาคม 2535 หากผิดนัดยอมให้โจทก์ทั้งสิบหกบังคับคดีได้ทันที
จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขจำนวนเงินซึ่งโจทก์ที่ 8 ที่ 10และที่ 16 ควรจะได้รับ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้อง(อันดับ 39)
จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าว (อันดับ 40)
จำเลยยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 42)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า สัญญาประนีประนอมยอมความขัดต่อกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมาย เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น แม้จะเป็นปัญหา ข้อกฎหมาย แต่การวินิจฉัยย่อมจะต้องอาศัยข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่ามีการนำเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อน ประจำปีซึ่งโจทก์ที่ 8 ที่ 10 และที่ 16 ไม่มีสิทธิจะได้รับ มารวม คำนวณเพื่อจ่ายให้โจทก์ที่ 8 ที่ 10 และที่ 16 ด้วย ซึ่งข้อเท็จจริง ดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นมาใหม่นอกเหนือจากข้อเท็จจริง ที่ศาลแรงงานกลางฟังมา อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง