แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า อุทธรณ์ข้อ 2.1 ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในลักษณะข้อกฎหมาย แต่ให้รับฟังข้อเท็จจริงที่ฝ่าฝืนกับคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย ถือว่า เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 อีกทั้งเป็น ข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นมาแล้วในศาลชั้นต้นต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.2 เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดี แรงงาน มาตรา 54 จึงไม่รับอุทธรณ์ทุกข้อของจำเลย
จำเลยเห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.1 เป็นอุทธรณ์ปัญหา ข้อกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถว่ากล่าวได้ในคำให้การ เพราะมิใช่ ประเด็นพิพาทแห่งคดี จำเลยจึงไม่สามารถว่ากล่าวในศาลชั้นต้น ได้โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปด้วย
หมายเหตุ โจทก์แถลงคัดค้าน (อันดับ 53)
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนจำนวน 10,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์(อันดับ 43)
จำเลยยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 49)
คำสั่ง
คดีนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าข้อเท็จจริงฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์ว่า การที่โจทก์ได้รับบาดเจ็บตามฟ้อง เป็นการประสบอันตรายระหว่างที่เดินทางไปยังบริษัทกรุ๊ปลิส จำกัด ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเพื่อกิจการของนายจ้าง จึงเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ข้ออ้างเป็นปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยย่อมต้องอาศัยข้อเท็จจริง เพื่อวินิจฉัยข้อกฎหมาย การเถียงข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่ยุติ และต้องห้ามอุทธรณ์เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ตามอุทธรณ์ของจำเลยจึงมีผลอย่างเดียวกับการอุทธรณ์ในปัญหา ข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลแรงงานกลางไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง