แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกา แต่ต่อมาสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมและสั่งใหม่เป็นว่าจำเลยยื่นฎีกาพ้นกำหนดแล้วจึงไม่รับฎีกา
จำเลยเห็นว่า กำหนดระยะเวลา 1 เดือนที่ให้ยื่นฎีกาได้นั้น ต้องคิดเป็น 30 วัน และเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2535 นี้มี 29 วัน เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2535 จึงครบกำหนด 30 วัน ในวันที่ 18 มีนาคม 2535 ฉะนั้นจำเลยจึงมีสิทธิยื่นฎีกาในวันที่ 18 มีนาคม 2535 ได้ โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาต่อไปด้วย
หมายเหตุ โจทก์แถลงคัดค้าน (อันดับ 92)
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 909 เล่ม 10 ก.หน้า 9 เลขที่ 32 หมายเลข 4936 ตำบลทุ่งขวาง อำเภอกำแพงแสนจังหวัดนครปฐม ให้แก่โจทก์และรับชำระเงินส่วนที่ค้างจำนวน 9,490 บาท ที่โจทก์วางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 7 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา ของจำเลย
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2535
จำเลยฎีกา ลงวันที่ 18 มีนาคม 2535 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว (อันดับ 78,81 แผ่นที่ 2)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ โดยเสียค่าขึ้นศาลมา 200 บาท(อันดับ 90)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งในชั้นอุทธรณ์แล้วนั้น ให้ยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์นั้น” คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์2535 วันสุดท้ายที่จำเลยจะยื่นฎีกาได้คือวันที่ 17 มีนาคม 2535ซึ่งเป็นวันครบกำหนดหนึ่งเดือนตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โดยไม่ต้องคำนึงว่าเดือนหนึ่งจะมีกี่วัน เมื่อจำเลยยื่นฎีกา ในวันที่ 18 มีนาคม 2535 จึงไม่ได้ยื่นภายในกำหนดหนึ่งเดือน ตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยชอบแล้วให้ยกคำร้อง คืนค่าคำร้องที่เกินมา 160 บาทให้จำเลย