แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
กรณีที่ศาลชั้นต้นตรวจฎีกาแล้วมีคำสั่งพร้อมทั้งเหตุผล ว่าไม่รับฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 223 นั้น หากผู้ฎีกาไม่เห็นด้วยก็ต้องยื่นฎีกาโดยทำเป็นคำร้อง อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกานั้นต่อศาลฎีกาภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นจะต้องส่งคำร้องเช่นว่านั้น ไปยังศาลฎีกาเพื่อสั่งคำร้องของ ผู้ฎีกาต่อไป ศาลชั้นต้นไม่มี อำนาจจะสั่งคำร้องของ จำเลยดังกล่าวได้ จำเลยกล่าวในคำร้องแต่เพียงว่า ข้อที่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกา ของจำเลยในปัญหาข้อเท็จจริง มีประเด็นสำคัญอันสมควรสู่การ พิจารณาของศาลฎีกา เพื่อให้จำเลยได้รับความเป็นธรรมด้วยเหตุ ที่พยานหลักฐานของโจทก์มีข้อพิรุธสงสัยอยู่มาก ดังนี้ คำร้องฎีกาคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยมิได้แสดงข้อโต้แย้งหรือ คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นให้ชัดเจนว่า คลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประการใดหรือฎีกาของจำเลยไม่ต้องห้ามตามกฎหมายอันควรที่ศาลฎีกา จะรับไว้พิจารณาอย่างไร ย่อมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสองประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก มาตรา 284 วรรคแรก และมาตรา 317 วรรคท้ายเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทง ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิง อายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 10 ปี ฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารจำคุก 5 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 10 ปี รวมจำคุก 25 ปี
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานพาหญิง ไปเพื่อการอนาจารจำคุก 2 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเพื่ออนาจารจำคุก 6 ปี เมื่อรวมกับโทษอีกกระทงหนึ่ง ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุก 18 ปี นอกจากที่แก้ให้ เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ความผิดฐานพาหญิงไป เพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้ไขเล็กน้อยเฉพาะโทษที่ลงแก่จำเลย แต่โทษ จำคุกยังคงไม่เกิน 5 ปี จำเลยจึงฎีกา ปัญหาข้อเท็จจริงในความผิด กระทงนี้ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ไม่รับฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงในกระทงดังกล่าว คงรับฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับความผิด 2 กระทงที่เหลือ จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาฉบับลงวันที่ 12 ตุลาคม 2541ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยมิได้ยกเหตุผลว่าคำสั่ง ศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรจึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำร้อง อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224
จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้น ดังกล่าวว่า โจทก์มีเพียงพยานผู้เสียหายปากเดียวที่กล่าวยืนยัน เอาความผิดกับจำเลยและยังมีข้อสงสัยอีกหลายประการ อันควร ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยและจำเลยมีสิทธิให้ ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษารับรองฎีกาว่า เป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดได้ แต่ผู้พิพากษาดังกล่าว ย้ายไปรับราชการที่ศาลอื่นทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 224 ให้โอกาสจำเลยในการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาได้ ขอศาลฎีกาโปรดมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กรณีที่ ศาลชั้นต้นตรวจฎีกาแล้วมีคำสั่งพร้อมทั้งเหตุผลว่าไม่รับฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 223 นั้น หากผู้ฎีกา ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว ผู้ฎีกาต้องยื่นฎีกาโดยทำเป็น คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกานั้นต่อศาลฎีกาภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นจะต้องส่งคำร้องเช่นว่านั้น ไปยังศาลฎีกา เพื่อสั่งคำร้องของ ผู้ฎีกาต่อไป ศาลชั้นต้นไม่มี อำนาจจะสั่งคำร้องของ จำเลยดังกล่าวได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยเสียเองจึงไม่ชอบ ด้วยกฎหมายดังกล่าว ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับคำร้อง ฉบับนี้เสีย ได้พิเคราะห์คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ฉบับลงวันที่ 12 ตุลาคม 2541 แล้ว จำเลยกล่าวในคำร้องแต่เพียงว่า ข้อที่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อเท็จจริง มีประเด็นสำคัญอันสมควรสู่การพิจารณาของศาลฎีกา เพื่อให้จำเลย ได้รับความเป็นธรรมด้วยเหตุที่พยานหลักฐานของโจทก์มีข้อพิรุธ สงสัยอยู่มาก ดังนี้ คำร้องฎีกาคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยมิได้ แสดง ข้อโต้แย้งหรือคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นให้ชัดเจนว่าคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใด หรือฎีกาของจำเลย ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายอันควรที่ศาลฎีกาจะรับไว้พิจารณาอย่างไร ย่อมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ดังนั้น จึงไม่รับวินิจฉัย คำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย ให้ยกคำร้อง”