แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ศาลล่างซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 2 ปี กับลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 3 ปี ซึ่งไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าตำบลห้วนบ่อซืนไม่ได้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและโจทก์ไม่ได้บรรยายรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับท้องที่เกิดเหตุว่าเป็นเขตควบคุมการแปรรูปไม้ มีการประกาศถูกต้องตามกฎหมายและจำเลยทั้งสองได้ทราบประกาศดังกล่าวแล้วนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงและเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 11, 48, 73, 74, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2494 มาตรา 6 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 19, 28พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525 มาตรา 4 พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2530 กฎกระทรวงฉบับที่ 750 (พ.ศ. 2518) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่แก้ไขแล้วฐานทำไม้และมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษจำเลยที่ 1ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดจำคุกกระทงละ 2 ปีลงโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดจำคุกกระทงละ 3 ปีรวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี จำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี ริบของกลางจ่ายสินบนนำจับตามพระราชบัญญัติป่าไม้
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยให้การรับสารภาพและคดีไม่ต้องสืบพยานโจทก์ จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่โจทก์จะต้องนำสืบว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ และอยู่ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้หรือไม่ การที่จำเลยอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาดังกล่าว จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย และไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่คู่ความมีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่ออุทธรณ์ฎีกา ไม่รับฎีกาจำเลย
จำเลยทั้งสองจึงยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาว่า ฎีกาที่ว่า ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะไม่ได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้น จำเลยก็สามารถยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาได้ ขอให้มีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณา
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ศาลล่างซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 2 ปีกับลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 3 ปี ซึ่งไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตำบลห้วยบ่อซืนไม่ได้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับท้องที่เกิดเหตุเป็นเขตควบคุมการแปรรูปไม้ มีการประกาศถูกต้องตามกฎหมายและจำเลยทั้งสองได้ทราบประกาศดังกล่าวแล้ว เห็นว่า การโต้เถียงว่ามีการบรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งความจริงโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่ข้อกฎหมายที่จำเลยทั้งสองว่าเป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์และเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นเช่นเดียวกันจึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองชอบแล้ว ยกคำร้อง”