แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ฎีกาของจำเลยเป็นการโต้แย้งดุลยพินิจในการรับฟัง พยานหลักฐานของศาล ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้าม ตามกฎหมายดังกล่าว ไม่รับฎีกาจำเลย จำเลยเห็นว่า ฎีกาที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายโปรดมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยด้วย หมายเหตุ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ได้รับสำเนาคำร้อง แล้วหรือไม่ คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องทั้งสามสำนวนแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล จึงให้ประทับฟ้องทุกสำนวน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี การกระทำของ จำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษ รวมห้ากระทงคงจำคุกจำเลยมีกำหนด 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 117) จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 118)
คำสั่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์จำเลยซึ่งเป็นพี่น้องกันได้ตกลงแบ่งที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกคนละครึ่งแล้วได้ตกลงใหม่ ให้จำเลยไม่ต้องแบ่งที่ดินแต่ยอมจ่ายเช็คพิพาทตามฟ้อง 5 ฉบับ เป็นเงิน 3,200,000 บาทแก่โจทก์ ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะมีคำสั่งระงับการจ่าย จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ผิดข้อตกลงไม่นำหนังสือสละมรดก ของทายาทอื่นมาให้จำเลย จำเลยอาจถูกทายาทอื่นฟ้องอีกศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น จำเลยฎีกาว่าจำเลยออกเช็คพิพาทในนามบริษัท โจทก์ไม่ได้ฟ้องบริษัทและนำสืบว่าจำเลยต้องรับผิดในฐานะอะไร โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นฎีกาโดยยกข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นโต้เถียงข้อเท็จจริง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง