คำสั่งคำร้องที่ 1803/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยและรับฟัง พยานหลักฐานของศาล จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคแรก จึงไม่รับอุทธรณ์จำเลย จำเลยเห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า การที่โจทก์ ได้พูดกับนายวีระชัยซึ่งเป็นนายจ้างต่อหน้าพนักงานของจำเลยประมาณ 20 คน เป็นการกระทำที่น่าจะทำให้นายวีระชัยเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และเกิดความเสียหายอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และการที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 นั้น ศาลต้องพิจารณาถึงมูลเหตุแห่งการ เลิกจ้างประกอบการกำหนดค่าเสียหาย และการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 โปรดมีคำสั่งให้ รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป หมายเหตุ ทนายโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 49) ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าว ล่วงหน้าจำนวน 33,200 บาท ค่าเสียหายในการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำนวน 199,200 บาท ค่าชดเชยจำนวน 199,200 บาท และค่าจ้าง ค้างจำนวน 14,700 บาทให้แก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าว (อันดับ 44) จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 45)

คำสั่ง พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามประเด็นทุกข้อ ว่าพยานหลักฐานฟังได้ว่า โจทก์พูดว่าโจทก์เป็นลูกผู้ชาย ไม่ใช่ลูกผู้หญิงไม่ได้นุ่งกระโปรงคำพูดดังกล่าวไม่เป็น หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นซึ่งหน้าอันเป็นความผิดอาญาจำเลยอุทธรณ์สรุปได้ว่า พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบฟังได้ว่า โจทก์กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง จงใจให้นายจ้าง เสียหายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยเป็นการร้ายแรง อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการ รับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share