คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6692/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การซื้อขายตราสารใบหุ้นซึ่งเจ้าของหุ้นได้ลงชื่อโอนหุ้นโดยมิได้ระบุชื่อผู้รับโอน แต่ส่งมอบใบหุ้นให้ไปซึ่งเรียกกันในวงการค้าหุ้นว่าเป็นการโอนหุ้นลอยนี้ คู่สัญญาทำการซื้อขายกันอย่างทรัพย์สินชนิดหนึ่ง มิได้ซื้อขายกันตามมูลค่าของหุ้นเพราะมูลค่าของหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การซื้อขายตราสารใบหุ้นดังกล่าวกับการโอนหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 จึงเป็นนิติกรรมคนละอย่างกัน การซื้อขายใบหุ้นจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ว่าด้วยการซื้อขายทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ทั่วไป
การที่จำเลยที่ 4 ลงชื่อในใบโอนหุ้นลอยแล้วมอบให้ ธ. พร้อมใบหุ้นที่จำเลยร่วมที่ 4 ลงชื่อโอนลอยไว้นั้น เป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายว่าจะโอนหุ้นตามใบโอนหุ้นลอยนั้นให้แก่บุคคลภายนอกผู้ที่ได้รับหรือซื้อใบหุ้นนั้นไปจาก ธ. โดยสุจริต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือยกให้ก็ตาม ซึ่งข้อตกลงกันดังกล่าวกฎหมายไม่ได้บังคับต้องทำเป็นหนังสือ จึงบังคับกันได้ ดังนั้น ข้อตกลงจะโอนหุ้นตามใบโอนหุ้นลอยระหว่างจำเลยกับ ธ. จึงเป็นสัญญาเพื่อบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 374 ธ. ขายใบหุ้นพิพาทให้จำเลยร่วมที่ 2 โจทก์ซื้อจากจำเลยผู้เป็นตัวแทนของจำเลยร่วมที่ 2 และโจทก์ได้แสดงเจตนาจะถือประโยชน์ตามสัญญาเพื่อบุคคลภายนอกระหว่างจำเลยร่วมที่ 4 กับ ธ. แล้ว จำเลยร่วมที่ 4 จึงผูกพันตามสัญญาต้องโอนหุ้นพิพาทให้โจทก์
โจทก์ยังไม่ได้รับโอนหุ้นพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 ยังมิใช่เป็นผู้ถือหุ้นพิพาท จึงยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาผลประโยชน์ใด ๆจากหุ้นพิพาทนี้ได้ และตัวหุ้นนั้นมีมูลค่าอยู่ในตัวของมันเอง ทั้งเปลี่ยนแปลงอยู่เสมออาจจะสูงขึ้นหรือต่ำลงก็ได้ ไม่แน่นอน จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายในส่วนนี้
สำหรับเงินปันผลนั้นเมื่อโจทก์ยังไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นพิพาทตามกฎหมาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาเงินปันผลอันเป็นดอกผลของหุ้นพิพาท
ส่วนดอกเบี้ยในต้นเงินที่โจทก์อ้างว่าได้กู้มาซื้อหุ้นพิพาทนั้น เมื่อไม่เกี่ยวกับหนี้ที่จำเลยร่วมที่ 4 จะต้องปฏิบัติการชำระให้โจทก์ กล่าวคือจำเลยร่วมที่ 4 จะต้องไปดำเนินการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ในฐานะผู้ถือหุ้นพิพาทขอเปลี่ยนเป็นใบหุ้นใหม่แล้วโอนให้โจทก์ มิได้ชำระเป็นเงินจึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ย หากโจทก์จะได้ไปกู้เงินมาซื้อหุ้นพิพาทจริงก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องรับผิดชอบเอง หามีสิทธิมาเรียกเอาจากจำเลยร่วมที่ 4 ไม่ นอกจากจำเลยร่วมที่ 4 ไม่สามารถโอนหุ้นพิพาทให้โจทก์และต้องคืนเงินค่าหุ้นให้โจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 4 จึงจะต้องรับผิดเสียดอกเบี้ย ส่วนอัตราดอกเบี้ยนั้นไม่มีข้อตกลงว่าจะต้องเสียให้กันในอัตราเท่าใด และโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มีสิทธิคิดเอาเกินกว่าอัตราขั้นต่ำตามกฎหมายเพราะเหตุใด โจทก์จึงมีสิทธิคิดเอาได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 โจทก์ได้ซื้อหุ้นบริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์จำกัด นอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 100,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 85 บาทรวมเป็นเงิน 8,500,000 บาท จากจำเลยและมอบเช็คสั่งจ่ายเงินหลังจากหักค่าภาษีและอากรแสตมป์จำนวน 8,491,500 บาท ให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยส่งใบหุ้นซึ่งมีชื่อบริษัทอีสเทิร์น เรียลเอสเตท (1990) จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นให้แก่โจทก์ แต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะนายทะเบียนหุ้นได้ออกหนังสือให้ยกเลิกใบหุ้นดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยทราบดีอยู่แล้วจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์จากดอกเบี้ย 778,387.50 บาท และจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นจากเดิม ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบใบหุ้นบริษัทเอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด ที่ถูกต้องสมบูรณ์จำนวน 100,000หุ้น และสิทธิที่จะได้รับจากหุ้นดังกล่าวคือ เงินปันผลและสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนพร้อมกับชำระค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 778,387.50 บาท และให้จำเลยชดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 8,491,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะได้มีการส่งมอบใบหุ้นและชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นและให้จำเลยรับมอบใบหุ้นของบริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด ใบหุ้นเลขที่ 0330158 และ 0330170พร้อมทั้งใบสำคัญการโอนหลักทรัพย์สำหรับหุ้นดังกล่าวคืนไปจากโจทก์ ให้จำเลยชดใช้ค่าขาดประโยชน์ที่จะได้รับจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นจากเดิมหุ้นละ 85 บาท ในวันที่ 25กุมภาพันธ์ 2535 เป็นหุ้นละ 117 บาท ในวันที่ 28 ตุลาคม 2535 เพิ่มหุ้นละ 32 บาทรวม 100,000 หุ้น เป็นเงินที่เพิ่มขึ้นจำนวน 3,200,000 บาท หากจำเลยไม่สามารถส่งมอบใบหุ้นบริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด ที่ถูกต้องสมบูรณ์จำนวน 100,000 หุ้น ให้แก่โจทก์ได้ ให้จำเลยชดใช้เงินให้แก่โจทก์เท่าราคาหุ้นที่มีการซื้อขายครั้งสุดท้าย
ระหว่างพิจารณา จำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกนางเยาวณี นิรันดร บริษัทบางกอกแฟน จำกัด บริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด และบริษัทอีสเทิร์น เรียลเอสเตท (1990)จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกนางเยาวณี นิรันดร เป็นจำเลยร่วมที่ 1 บริษัทบางกอกแฟน จำกัด เป็นจำเลยร่วมที่ 2 บริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัดเป็นจำเลยร่วมที่ 3 และบริษัทอีสเทิร์น เรียลเอสเตท (1990) จำกัด เป็นจำเลยร่วมที่ 4
จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสี่ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมที่ 4 ส่งมอบใบหุ้นบริษัทเอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัดที่ถูกต้องสมบูรณ์จำนวน 100,000 หุ้น และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับคืนเงินปันผลและสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนให้จำเลยร่วมที่ 4 ใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละ 13.75ต่อปี ในต้นเงิน 8,491,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะได้ส่งมอบใบหุ้นแก่โจทก์ ให้จำเลยร่วมที่ 4 รับมอบใบหุ้นบริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด เลขที่ 0330158 และเลขที่ 0330170 พร้อมใบสำคัญการโอนหลักทรัพย์สำหรับหุ้นดังกล่าวคืนไปจากโจทก์หากจำเลยร่วมที่ 4 ไม่สามารถส่งมอบใบหุ้นบริษัทเอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด ที่ถูกต้องสมบูรณ์จำนวน 100,000 หุ้น แก่โจทก์ได้ จำเลยร่วมที่ 4 ใช้เงินเท่ากับราคาหุ้นบริษัทดังกล่าวที่มีการซื้อขายครั้งสุดท้าย (ราคาปิด) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก่อนวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาพร้อมเงินปันผลกับสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทดังกล่าวและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี ในต้นเงิน 8,491,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะได้มีการชำระเงินแทนการส่งมอบหุ้นแก่โจทก์เสร็จ คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องจำเลย จำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 3
โจทก์และจำเลยร่วมที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยร่วมที่ 4 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลย และจำเลยร่วมนำสืบว่า ใบหุ้นพิพาทเป็นใบหุ้นของบริษัทจำเลยร่วมที่ 3 โดยมีชื่อบริษัทจำเลยร่วมที่ 4 เป็นผู้ถือหุ้น นายรอยอิศราพร ชุตาภา เป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัทจำเลยร่วมที่ 3 และเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 4 ซึ่งมีอยู่คนเดียว เมื่อปี 2533บริษัทจำเลยร่วมที่ 4 โดยนายรอยอิศราพร กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนได้ลงชื่อพร้อมประทับตราของบริษัทจำเลยร่วมที่ 4 เป็นสำคัญทำการโอนหุ้นของบริษัทจำเลยร่วมที่ 4 จำนวน 1,000,000 หุ้น รวมทั้งหุ้นพิพาทนี้ด้วย โดยมิได้ระบุชื่อผู้รับโอนที่เรียกในวงการค้าหุ้นว่าเป็นการโอนหุ้นลอย แล้วส่งมอบใบหุ้นและใบโอนหุ้นลอยดังกล่าวให้แก่นายธรรมนูญ นิรันดร เพื่อเป็นการตอบแทนที่นายธรรมนูญยอมให้บริษัทจำเลยร่วมที่ 3และบริษัทจำเลยร่วมที่ 4 ปลูกสร้างอาคารที่ทำการบนที่ดินของตน ต่อมานายธรรมนูญได้ขายใบหุ้นทั้ง 1,000,000 หุ้นนั้นพร้อมใบโอนหุ้นลอยให้แก่บุคคลภายนอกไปทั้งหมด ผู้ซื้อได้ลงชื่อเป็นผู้รับโอนในใบโอนหุ้นลอยแล้วนำไปจดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักงานของผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยร่วมที่ 3 ไปแล้วจำนวน750,000 หุ้น คงเหลือที่ยังไม่ได้นำไปจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยร่วมที่ 3 จำนวน 250,000 หุ้น คือใบหุ้นพิพาทจำนวน 100,000 หุ้น กับใบหุ้นที่นายธรรมนูญได้มอบให้นางเยาวณี นิรันดร บุตรสาวนำไปขายให้แก่พลตรีเขมชาตินิติศิริ จำนวน 150,000 หุ้น สำหรับใบหุ้นพิพาทนี้ นายธรรมนูญได้ขายให้แก่บริษัทจำเลยร่วมที่ 2 บริษัทจำเลยร่วมที่ 2 โดยจำเลยร่วมที่ 1 กรรมการผู้จัดการได้นำไปให้จำเลยเป็นตัวแทนเสนอขายให้โจทก์ แต่ก่อนที่นายธรรมนูญจะขายให้จำเลยร่วมที่ 2บริษัทจำเลยร่วมที่ 3 ได้นำหุ้นของบริษัทจำเลยร่วมที่ 3 เข้าตลาดหลักทรัพย์ ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 ตลาดหลักทรัพย์ได้ประกาศยกเลิกใบหุ้นเก่าของบริษัทจำเลยร่วมที่ 3 ทั้งหมด ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นต้นไป โดยให้ผู้ถือหุ้นนำใบหุ้นเก่ามาเปลี่ยนเป็นใบหุ้นใหม่ บริษัทจำเลยร่วมที่ 2 ได้ขายใบหุ้นพิพาทให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 โดยยังไม่ได้นำไปขอเปลี่ยนเป็นใบหุ้นใหม่เนื่องจากบริษัทจำเลยร่วมที่ 2 ไม่รู้ว่ามีการประกาศยกเลิกใบหุ้นเก่า เมื่อโจทก์ซื้อใบหุ้นพิพาทมาแล้วได้ไปขอโอนหุ้นพิพาทต่อตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ไม่ยอมโอนให้โดยแจ้งให้ไปติดต่อบริษัทจำเลยร่วมที่ 4 ให้มาขอเปลี่ยนเป็นใบหุ้นใหม่เสียก่อน โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบ จำเลยได้แจ้งให้จำเลยร่วมที่ 1 กับบริษัทจำเลยร่วมที่ 2 ดำเนินการตามที่โจทก์แจ้งมา จำเลยร่วมที่ 1 กับนายธรรมนูญได้ติดต่อให้บริษัทจำเลยร่วมที่ 4 ไปดำเนินการขอเปลี่ยนเป็นใบหุ้นใหม่ให้โจทก์ บริษัทจำเลยร่วมที่ 4 เพิกเฉย
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์จึงมีว่า จำเลยกับจำเลยร่วมทั้งสี่หรือคนใดคนหนึ่งจะต้องรับผิดโอนหุ้นพิพาทให้โจทก์และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่าการซื้อขายตราสารใบหุ้นพร้อมใบโอนหุ้นลอยนี้ คู่สัญญาทำการซื้อขายกันอย่างทรัพย์สินชนิดหนึ่ง มิได้ซื้อขายกันตามมูลค่าของหุ้นเพราะมูลค่าของหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การซื้อขายตราสารใบหุ้นดังกล่าวกับการโอนหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 จึงเป็นนิติกรรมคนละอย่างกัน การซื้อขายใบหุ้นจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ว่าด้วยการซื้อขายทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ทั่วไป ดังนั้นนิติกรรมการยกใบหุ้นให้กันระหว่างจำเลยร่วมที่ 4 กับนายธรรมนูญ นิรันดรและนิติกรรมการซื้อขายใบหุ้นพิพาทระหว่างนายธรรมนูญกับจำเลยร่วมที่ 2 และระหว่างจำเลยร่วมที่ 2 กับโจทก์จึงไม่เป็นโมฆะ ใช้บังคับกันได้ การที่จำเลยร่วมที่ 4 ลงชื่อในใบโอนหุ้นลอยแล้วมอบให้นายธรรมนูญพร้อมใบหุ้นที่จำเลยร่วมที่ 4 ลงชื่อโอนลอยไว้นั้นเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายว่าจะโอนหุ้นตามใบโอนหุ้นลอยนั้นให้แก่บุคคลภายนอกผู้ที่ได้รับหรือซื้อใบหุ้นนั้นไปจากนายธรรมนูญโดยสุจริต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยน หรือยกให้ก็ตาม ซึ่งข้อตกลงกันดังกล่าวกฎหมายไม่ได้บังคับต้องทำเป็นหนังสือ จึงบังคับกันได้ ดังนั้นข้อตกลงจะโอนหุ้นตามใบโอนหุ้นลอยระหว่างจำเลยที่ 4 กับนายธรรมนูญจึงเป็นสัญญาเพื่อบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 374 นายธรรมนูญขายใบหุ้นพิพาทให้จำเลยร่วมที่ 2 โจทก์ซื้อจากจำเลยผู้เป็นตัวแทนของจำเลยร่วมที่ 2 และโจทก์ได้แสดงเจตนาจะถือประโยชน์ตามสัญญาเพื่อบุคคลภายนอกระหว่างจำเลยร่วมที่ 4 กับนายธรรมนูญแล้ว จำเลยร่วมที่ 4 จึงผูกพันตามสัญญาต้องโอนหุ้นพิพาทให้โจทก์ โจทก์แจ้งให้จำเลยร่วมที่ 4 ดำเนินการแล้วแต่เพิกเฉย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยร่วมที่ 4 ให้ปฏิบัติตามสัญญาได้
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปก็คือจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดโอนหุ้นพิพาทให้โจทก์ด้วยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของจำเลยร่วมที่ 2 ทำการขายใบหุ้นพิพาทให้โจทก์แทนจำเลยร่วมที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว จำเลยร่วมที่ 1 เป็นกรรมการกระทำการแทนจำเลยร่วมที่ 2 ถือเป็นตัวแทนของจำเลยร่วมที่ 2ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว จำเลยร่วมที่ 2 มิได้ผิดสัญญาต่อโจทก์ ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนโดยส่งมอบใบหุ้นกับใบโอนหุ้นลอยให้แก่โจทก์ตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันในวงการค้าหุ้นแล้ว การที่โจทก์ไม่สามารถรับโอนหุ้นพิพาทได้มิใช่เป็นความผิดของจำเลยร่วมที่ 2 แต่เป็นเพราะจำเลยร่วมที่ 4 ไม่ไปดำเนินการเปลี่ยนใบหุ้นใหม่ให้แก่โจทก์จำเลยร่วมที่ 4 เป็นฝ่ายผิดสัญญาที่ตกลงกันไว้กับนายธรรมนูญเอง และมิใช่เป็นการถูกรอนสิทธิ เพราะจำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบใบหุ้นพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว การดำเนินการโอนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและการไปจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องไปดำเนินการเอง จำเลยร่วมที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ส่วนจำเลยร่วมที่ 3 นั้นไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ เป็นเพียงผู้ออกหุ้นและไม่มีสิทธิขัดขวาง ถ้าหากจำเลยร่วมที่ 4 จะโอนหุ้นพิพาทให้โจทก์ จำเลยร่วมที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน
ปัญหาวินิจฉัยข้อสุดท้ายคือ จำเลยร่วมที่ 4 จะต้องรับผิดชำระเงินปันผลกับราคาหุ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ยังไม่ได้รับโอนหุ้นพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 ยังมิใช่เป็นผู้ถือหุ้นพิพาท จึงยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาผลประโยชน์ใด ๆ จากหุ้นพิพาทนี้ได้ และตัวหุ้นนั้นมีมูลค่าอยู่ในตัวของมันเอง ทั้งเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอบางครั้งราคาอาจขึ้นสูงกว่าหุ้นละ 117 บาท บางครั้งราคาก็อาจลดลงต่ำกว่าหุ้นละ 85 บาท ก็ได้ไม่แน่นอน จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายในส่วนนี้สำหรับเงินปันผลนั้น เมื่อโจทก์ยังไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นพิพาทตามกฎหมายโจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาเงินปันผลอันเป็นดอกผลของหุ้นพิพาท ส่วนดอกเบี้ยในต้นเงินที่โจทก์อ้างว่าได้กู้มาซื้อหุ้นพิพาทนั้นก็ไม่เกี่ยวกับหนี้ที่จำเลยร่วมที่ 4 จะต้องปฏิบัติการชำระให้โจทก์ กล่าวคือ จำเลยร่วมที่ 4 จะต้องไปดำเนินการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ในฐานะผู้ถือหุ้นพิพาทขอเปลี่ยนเป็นใบหุ้นใหม่แล้วโอนให้โจทก์ มิได้ชำระเป็นเงินจึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ย หากโจทก์จะได้ไปกู้เงินมาซื้อหุ้นพิพาทจริง ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องรับผิดชอบเอง หามีสิทธิมาเรียกเอาจากจำเลยร่วมที่ 4 ไม่ นอกจากจำเลยร่วมที่ 4 ไม่สามารถโอนหุ้นพิพาทให้โจทก์ และต้องคืนเงินค่าหุ้นให้โจทก์เท่านั้นจึงจะต้องรับผิดเสียดอกเบี้ย ส่วนอัตราดอกเบี้ยนั้นไม่มีข้อตกลงว่าจะต้องเสียให้กันในอัตราเท่าใดและโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มีสิทธิคิดเอาเกินกว่าอัตราขั้นต่ำตามกฎหมายเพราะเหตุใด โจทก์จึงมีสิทธิคิดเอาได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก เท่านั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยร่วมที่ 4 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมที่ 4 ไปดำเนินการขอเปลี่ยนใบหุ้นบริษัท เอ็ม ดีเอ็กซ์ จำกัด คือใบหุ้นเลขที่ 0330158 หุ้นหมายเลขที่ 146350001 ถึง 146400000 และใบหุ้นเลขที่ 0330170 หุ้นหมายเลขที่ 146950001 ถึง 147000000 ที่มีชื่อจำเลยร่วมที่ 4 เป็นผู้ถือหุ้น โดยขอให้ตลาดหลักทรัพย์เปลี่ยนใบหุ้นให้ใหม่แล้วจัดการโอนใบหุ้นใหม่นั้นให้โจทก์ทันที ถ้าจำเลยร่วมที่ 4 ไม่ไปดำเนินการภายในหนึ่งเดือนก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยร่วมที่ 4 หากการปฏิบัติการชำระหนี้ดังกล่าวเป็นการพ้นวิสัย ก็ให้จำเลยร่วมที่ 4 ชำระเงินค่าหุ้นจำนวน 8,491,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share