คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4377/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 20 บัญญัติให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมใดมีสินค้าอยู่ในโรงอุตสาหกรรมในวันที่กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตใช้บังคับแก่สินค้านั้น ให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมนั้นยื่นแบบรายการแสดงชนิดและปริมาณของสินค้านั้นตามแบบที่อธิบดีกำหนดต่อเจ้าพนักงานสรรพสามิต ณ สถานที่ตามมาตรา 53 ก่อนหรือพร้อมกับการยื่นแบบรายการภาษีครั้งแรกตามมาตรา 48 ซึ่งตามมาตรา 48(1) ระบุว่า ในกรณีสินค้าที่ผลิตขึ้นในราชอาณาจักรให้ยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีก่อนความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีเกิดขึ้น และตามมาตรา 10 ระบุให้ความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีกรณีสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร โดยถ้าสินค้าอยู่ในโรงอุตสาหกรรม ให้ถือว่าความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีเกิดขึ้นในเวลาที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรม ดังนี้ เมื่อได้มีการเคลื่อนย้ายรถยนต์ของกลางออกจากโรงอุตสาหกรรมแล้วความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีจึงเกิดขึ้นแล้ว และเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยื่นแบบรายการต่อเจ้าพนักงานสรรพสามิตตามที่กฎหมายกำหนด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดตามมาตรา 20,48(1),148
พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 19 บัญญัติ “ห้ามมิให้ผู้ใดนำสินค้าที่ยังมิได้เสียภาษีโดยถูกต้องและครบถ้วนออกไปจากโรงอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทันฑ์บน เว้นแต่ (1) เป็นการนำสินค้าออกจากโรงงานอุตสาหกรรมไปเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด… คดีนี้ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการคนเดียวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมมีหน้าที่ดูแลบริหารกิจการและสั่งงานเกี่ยวกับกิจการของจำเลยที่ 1 ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยปริยาย การนำรถยนต์ออกจากโรงอุตสาหกรรมเพื่อไปแสดงและจำหน่ายเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 เมื่อรถยนต์ของกลางยังมิได้เสียภาษี และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อาจนำสืบหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ให้ศาลเห็นเป็นอย่างอื่น จึงถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้นำรถยนต์ของกลางออกจากโรงงานอุตสาหกรรมไปไว้ที่เกิดเหตุและเมื่อไม่ปรากฏว่าที่เกิดเหตุเป็นคลังสินค้าทัณฑ์บน ซึ่งอาจได้รับการยกเว้นตามมาตรา 19(1) ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้รับการยกเว้นตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19(2) ถึง (5) จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดในข้อหานี้ตามมาตรา 19,147
ความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าโดยรู้อยู่ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 162(1)ที่บัญญัติห้ามผู้ใดขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วน เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีไว้ในโรงอุตสาหกรรมหรือในคลังสินค้าทัณฑ์บนนั้น ไม่มีระเบียบปฏิบัติใดอนุโลมให้ไปเสียภาษีหลังจากที่มีผู้ซื้อแล้วแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 10, 19, 20, 48, 53, 147, 148, 161, 162, 168 พระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2534 มาตรา 3 พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้ายพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวในประเภทที่ 05.01 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91 ของกลางทั้งหมดให้ริบเป็นของกรมสรรพสามิต

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 10, 19 วรรคแรก, 20, 48(1), 53วรรคสอง, 147(1), 148, 162(1), 168 พระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2534 มาตรา 3 พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้ายพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวในประเภทที่ 05.01 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดกรรมเดียวโดยมุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวคือหลีกเลี่ยงภาษีในรถยนต์ของตัวเองที่ประกอบขึ้น ฉะนั้น การนำรถยนต์ออกจากโรงอุตสาหกรรมโดยไม่ชำระภาษีก็ดีการนำรถยนต์ตั้งแสดงในเต็นท์เพื่อจำหน่ายก็ดี มีเจตนาอันเดียวกันคือไม่ชำระภาษี จึงให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 147 ปรับคนละ 10,361,032 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และของกลางให้ริบเป็นของกรมสรรพสามิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังเป็นยุติว่า รถยนต์ทั้ง6 คัน ที่ถูกยึดเป็นของกลางเป็นของจำเลยที่ 1 ประกอบขึ้นภายในประเทศ โดยใช้อุปกรณ์ที่ผลิตจากต่างประเทศและยังไม่เสียภาษีสรรพสามิตเจ้าพนักงานสรรพสามิตยึดได้จากเต็นท์ขายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ สำหรับความผิดฐานเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีสินค้าอยู่ในโรงอุตสาหกรรม ไม่ยื่นแบบรายการแสดงชนิดและปริมาณของสินค้าต่อเจ้าพนักงานสรรพสามิต ก่อนหรือพร้อมกับการยื่นแบบรายการภาษี และชำระภาษีก่อนความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีเกิดขึ้นในเวลาที่นำสินค้าออกจากโรงงาน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า การเสียภาษีจะต้องมีการตรวจสภาพรถยนต์ที่ประกอบขึ้นมาเสียก่อน จึงจะนำไปเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตพ.ศ. 2527 มาตรา 20 บัญญัติว่า “ผู้ประกอบอุตสาหกรรมใดมีสินค้าอยู่ในโรงอุตสาหกรรมในวันที่กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตใช้บังคับแก่สินค้านั้น ให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมนั้นยื่นแบบรายการแสดงชนิดและปริมาณของสินค้านั้นตามแบบที่อธิบดีกำหนดต่อเจ้าพนักงานสรรพสามิต ณ สถานที่ตามมาตรา 53 ก่อนหรือพร้อมกับการยื่นแบบรายการภาษีครั้งแรกตามมาตรา 48” ซึ่งตามมาตรา 48(1) ระบุว่า ในกรณีสินค้าที่ผลิตขึ้นในราชอาณาจักรให้ยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีก่อนความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีเกิดขึ้น และตามมาตรา 10 ระบุให้ความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีกรณีสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร โดยถ้าสินค้าอยู่ในโรงอุตสาหกรรม ให้ถือว่าความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีเกิดขึ้นในเวลาที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เจ้าพนักงานสรรพสามิตตรวจจับและยึดรถยนต์ของกลางจากเต็นท์ขายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 แสดงว่า ได้มีการเคลื่อนย้ายรถยนต์ดังกล่าวออกจากโรงอุตสาหกรรมแล้วความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีจึงเกิดขึ้นแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยื่นแบบรายการต่อเจ้าพนักงานสรรพสามิตตามที่กฎหมายกำหนด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดตามมาตรา 20, 48(1), 148

ความผิดฐานร่วมกันนำสินค้าที่ยังมิได้เสียภาษีโดยถูกต้องและครบถ้วนออกไปจากโรงอุตสาหกรรมนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการชำระภาษีสรรพสามิตและจำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้นำรถยนต์ของกลางออกจากโรงอุตสาหกรรม เห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 19 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดนำสินค้าที่ยังมิได้เสียภาษีโดยถูกต้องและครบถ้วนออกไปจากโรงอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทันฑ์บนเว้นแต่ (1) เป็นการนำสินค้าออกจากโรงงานอุตสาหกรรมไปเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด…” ปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการคนเดียวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมมีหน้าที่ดูแลบริหารกิจการและสั่งงานเกี่ยวกับกิจการของจำเลยที่ 1 ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยปริยาย การนำรถยนต์ออกจากโรงอุตสาหกรรมเพื่อไปแสดงและจำหน่ายเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 เมื่อปรากฏว่ารถยนต์ของกลางยังมิได้เสียภาษี และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อาจนำสืบหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ให้ศาลเห็นเป็นอย่างอื่น จึงถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้นำรถยนต์ของกลางออกจากโรงอุตสาหกรรมไปไว้ที่เกิดเหตุ และเมื่อไม่ปรากฏว่าที่เกิดเหตุเป็นคลังสินค้าทัณฑ์บน ซึ่งอาจได้รับการยกเว้นตามมาตรา 19(1) ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้รับการยกเว้นตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19(2) ถึง (5) จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดในข้อหานี้ตามมาตรา 19, 147

ความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าโดยรู้อยู่ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วนนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า ในการเสียภาษีดังกล่าวนั้นต้องมีการตรวจสภาพรถยนต์ที่ประกอบขึ้นโดยกรมการขนส่งทางบกเสียก่อน หากรถยนต์ผ่านการตรวจสภาพแล้วทางกรมการขนส่งทางบกจึงจะออกใบรับของให้ จากนั้นจึงจะนำใบรับรองดังกล่าวไปยื่นเสียภาษีสรรพสามิตต่อไป ซึ่งรถยนต์ของกลาง 2 คัน ได้ผ่านการตรวจสภาพรถยนต์แล้วเพียงแต่รอการเสียภาษีเท่านั้น เหตุที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติดังกล่าวก็เพื่อให้มีผู้ซื้อเสียก่อนจึงจะไปดำเนินการยื่นเสียภาษี เห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 162(1) ห้ามผู้ใดขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วน เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีไว้ในโรงอุตสาหกรรมหรือในคลังสินค้าทัณฑ์บน ดังนั้น ตามข้อต่อสู้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปรากฏว่ามีระเบียบปฏิบัติใดอนุโลมให้ไปเสียภาษีหลังจากที่มีผู้ซื้อแล้วแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดในข้อหามีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าโดยรู้อยู่ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษี

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 บทที่มีโทษหนักที่สุด ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 147(1) ปรับคนละ 10,361,032 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบในชั้นพิจารณาอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เห็นสมควรลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับคนละ 6,907,354.66 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share