แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามสัญญาประนีประนอมให้แบ่งที่ดินกันระหว่างคู่ความเป็นส่วนๆ แต่ชั้นบังคับคดีเกิดมีปัญหาในเรื่องเนื้อที่ของที่ดินที่จะแบ่ง และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งชี้ขาดไปแล้ว หากคู่ความเห็นว่าศาลชั้นต้นสั่งไม่ถูกต้องประการใด ก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อไป จะฟ้องเป็นคดีใหม่ไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ
ย่อยาว
เดิมโจทก์เคยฟ้องจำเลยตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 72/2495 ของศาลจังหวัดชลบุรี โดยอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดเนื้อที่ 10-1-80 ไร่ร่วมกับจำเลยและนายผิว ได้แบ่งกันครอบครองเป็นส่วนสัดมา 20 ปีแล้ว ต่อมานายผิวตาย โจทก์ผู้เดียวรับมรดกนายผิว โจทก์จะขอแบ่งโฉนดจำเลยคัดค้าน จึงขอให้ศาลแบ่งให้ ต่อมาโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าที่ดินตอนที่ล้อมรั้วเป็นเขตอยู่ทางใต้ให้นางจี่น้องสาวของโจทก์จำเลย ส่วนที่เหลือแบ่งให้โจทก์ 2 ส่วน จำเลย 1 ส่วน ส่วนของจำเลยอยู่ทางตะวันตกโดยวัดลากเส้นจากเหนือมาใต้ ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ต่อมาโจทก์ร้องว่าจำเลยไม่ยอมให้เจ้าพนักงานรังวัดแบ่ง ศาลนัดพร้อมกันจำเลยว่ายินยอมให้แบ่งแต่ยังเข้าใจผิดกันในเรื่องเขต ในที่สุดศาลไกล่เกลี่ยให้รังวัดที่ของนางจี่ได้เนื้อที่เท่าไรเสียก่อนแล้วหักจาก 10-1-80 ไร่เนื้อที่ ๆ เหลือให้คำนวณเป็น 3 ส่วน โจทก์ได้ 2 ส่วน จำเลย 1 ส่วนต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องว่าที่ดินโฉนดรายพิพาทนี้เมื่อทำการรังวัดแล้วมีเนื้อที่ถึง 16-1-80 ไร่ เจ้าพนักงานที่ออกโฉนดคำนวณเนื้อที่ผิดจำเลยไม่ยอมให้แบ่งส่วนที่เกินนั้นอีกประมาณ 3 ไร่เศษศาลนัดพร้อมแล้วสั่งว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 30 มกราคม 2496 จดไว้ชัดว่าให้หักที่นางจี่ออกจาก 10-1-80 ไร่ เหลือเท่าใดให้แบ่งให้โจทก์จำเลยตามยอม การคำนวณผิดถูกอย่างไรไม่สำคัญโจทก์จะผันแปรเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ต่อมาโจทก์จึงได้ฟ้องคดีนี้ขอให้เอาเนื้อที่ที่ยังเหลืออยู่ 3-2-40 ไร่ แบ่งให้โจทก์สองส่วนตามสัญญายอม
จำเลยต่อสู้ว่าเป็นที่นอกโฉนดและโจทก์ฟ้องซ้ำ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นฟ้องซ้ำพิพากษาให้ยกฟ้อง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยศาลล่างทั้งสองและเห็นสมควรอธิบายด้วยว่าคำร้องของศาลชั้นต้นในคดีเดิมนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องแปลสัญญาประนีประนอมยอมความ หากเป็นคำสั่งเพื่อการบังคับคดีให้ลุล่วงเป็นไปตามคำพิพากษาท้ายยอมเท่านั้นฉะนั้นหากเป็นจริงดังโจทก์ว่าแล้วก็เป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับสัญญายอมความ ชอบที่จะให้คู่ความพิสูจน์เนื้อที่ในโฉนดกันก่อนเพื่อจะได้ดำเนินการบังคับคดีให้ตรงกับคำพิพากษาท้ายยอมโดยไม่ต้องฟ้องคดีใหม่ คดีนี้จึงเป็นการฟ้องซ้ำ ศาลฎีกาพิพากษายืน