คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1142/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อตามพฤติการณ์ได้ความว่าจำเลยแทงผู้ตายขณะวิกลจริตแต่ยังมีสติพอจะรู้สึกผิดชอบหรือยับยั้งได้ จำเลยย่อมได้รับการลดหย่อนอาญาให้เบาลงได้ตาม มาตรา 47
การที่จะนับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาอีกคดีหนึ่งหรือไม่นั้นให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจได้ตาม มาตรา 32 เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยต่อให้ ย่อมไม่มีเหตุผลที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงในข้อดุลพินิจ
เมื่อคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล หากมีเหตุควรเชื่อว่าจำเลยเป็นคนวิกลจริต ศาลย่อมสั่งให้พนักงานแพทย์ตรวจแล้วมาให้การได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยใช้มีดแทงนางวรรณาตายโดยเจตนาฆ่าขอให้ลงโทษและนับโทษจำเลยต่อจากคดีดำที่ 501/2496 จำเลยให้การรับสารภาพได้ทำไปเพราะถูกยั่วโทษะและเป็นจำเลยคนเดียวกับคดีดำที่ 501/2496

ศาลชั้นต้นเห็นว่าจะฟังว่าจำเลยวิกลจริตดังแถลงไม่ได้ จำเลยมีผิดตาม มาตรา 249, 59 จำคุก 7 ปี 6 เดือน แต่ไม่เห็นสมควรนับโทษต่อให้เพราะคดีนั้นจำเลยถูกจำคุก 2 เดือน แต่ต้องขังมาพอกับโทษให้ปล่อยไป

โจทก์จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีเหตุควรเชื่อว่าจำเลยจะวิกลจริตจึงสั่งให้พนักงานแพทย์ตรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 แล้วให้เรียกแพทย์มาให้การ ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยกระทำในขณะวิกลจริตแต่ยังมีสติพอจะรู้สึกผิดชอบหรือยับยั้งได้ตาม มาตรา 47ประมวลกฎหมายอาญา จึงพิพากษาให้ลงโทษจำเลยตาม มาตรา 249ประกอบด้วย มาตรา 47, 59 คงจำคุก 2 ปี และให้ยกอุทธรณ์โจทก์ข้อขอนับโทษต่อกัน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าตามพฤติการณ์ที่ได้ความมาส่อแสดงให้น่าเชื่อว่าการกระทำของจำเลยกระทำไปในขณะวิกลจริต แต่ยังมีสติพอจะรู้สึกผิดชอบหรือยังยั้งได้ตาม มาตรา 47

ส่วนข้อฎีกาของโจทก์เรื่องขอให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาเลขดำที่ 501/2496 ด้วยนั้นตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ให้อำนาจศาลใช้ดุลยพินิจในเรื่องเช่นนี้ได้ เมื่อศาลทั้งสองได้ใช้ดุลยพินิจไม่นับโทษจำเลยต่อให้ ก็ไม่มีเหตุผลอันใดจะเปลี่ยนแปลงในข้อดุลพินิจนั้น จึงพิพากษายืน

Share