คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เช่าเดิมให้ความยินยอมว่า จะออกจากเคหะแล้ว ผู้เช่าคนใหม่รับโอนการเช่านั้นมา อาจถือได้ว่ารับโอนความยินยอมนั้นมาด้วย

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ประมาณ 10 ปีมาแล้ว นางสาวถนอมจิตร์ หุตะสิงห์ ได้เช่าที่ดินโฉนดที่ 4951 ตำบลสุริยวงษ์ อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร ของโจทก์บางส่วน ปลูกเรือนเลขทะเบียนที่ 188 ลงบนที่ดินนั้น เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าได้ทำหนังสือสัญญาเช่ากันใหม่เสมอมา ครั้งหลังที่สุดได้ทำสัญญาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2495 กำหนดระยะเวลาเช่ากัน 1 ปี โดยนางสาวถนอมจิตร์ให้ความยินยอมไว้ว่า เมื่อครบกำหนด 1 ปีแล้ว นางสาวถนอมจิตร์ หุตะสิงห์ขอเลิกสัญญาเช่า และจะรื้อถอนเรือนนั้นออกไปจากที่ดินของโจทก์ภายใน 6 เดือน ระหว่าง 6 เดือนนี้ นางสาวถนอมจิตร์ หุตะสิงห์อยู่ในฐานะอาศัยไม่ต้องเสียค่าเช่า ครั้นต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2495 นางสาวถนอมจิตร์ หุตะสิงห์ ได้โอนกรรมสิทธิ์เรือนนั้นให้จำเลยจำเลยรับปฏิบัติตามสัญญาที่นางสาวถนอมจิตร์ได้ทำไว้กับโจทก์ทุกประการ ปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาท้ายฟ้อง บัดนี้ครบกำหนดระยะเวลาอาศัยแล้ว โจทก์บอกให้จำเลยรื้อถอนเรือนออกไปจากที่ดินของโจทก์ จำเลยขัดขืนทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่ควรได้จากการใช้ที่ดินเป็นเงิน 600 บาท และเดือนต่อไปอีกเดือนละ 200 บาท ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลย ให้รื้อถอนเรือนออกไปจากที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายด้วย

จำเลยให้การต่อสู้ว่า เดิมนางสาวถนอมจิตร์ หุตะสิงห์ ได้เช่าที่ดินของโจทก์ปลูกเรือนอยู่อาศัย ต่อมาได้โอนเรือนหลังนี้ให้จำเลย จำเลยก็ได้ใช้อยู่อาศัย โดยจำเลยได้เช่าที่ดินจากโจทก์ ทำสัญญาเช่าเขียนลงท้ายหนังสือสัญญาฉบับเดิมที่นางสาวถนอมจิตร์ หุตะสิงห์ ทำไว้กับโจทก์ แต่จำเลยแสดงเจตนาตกลงเพียงเช่าที่ดินปลูกสร้างเคหะเป็นที่อยู่อาศัย มิได้ตกลงที่จะเลิกสัญญาและรื้อเรือนไปภายใน 6 เดือน นับแต่สัญญาเช่าสิ้นอายุตามที่ปรากฏในหนังสือสัญญาท้ายฟ้องนั้นด้วย โจทก์ทำขึ้นโดยหาทางเลี่ยงกฎหมาย แม้จำเลยจะได้ยินยอมตามสัญญานั้นก็ไม่ใช่เป็นความยินยอมตามความหมายของ มาตรา 16(5) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า หลังจากครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว จำเลยยังได้ส่งค่าเช่าให้โจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมรับเอง จำเลยถือว่า ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่ และโจทก์ไม่เสียหายดังฟ้อง

ศาลแพ่งสอบถามคู่ความแล้วสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่าย วินิจฉัยว่า สัญญาเช่าข้อ 1 มีข้อความว่า “ฯลฯ เมื่อสิ้นสัญญาเช่านี้ผู้เช่าขอเลิกสัญญาเช่าและให้ความยินยอมไว้ว่า จะรื้อถอนทรัพย์สิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินที่ให้เช่าภายในระยะเวลา 6 เดือนภายในกำหนดที่กล่าวนี้คู่สัญญาตกลงกันว่า ผู้เช่าคงอยู่ในฐานะอาศัยไม่ต้องชำระค่าเช่า” สัญญาเช่าฉบับนี้สิ้นอายุการเช่าในวันที่ 31 ธันวาคม 2495 หลังจากนั้นจำเลยได้ส่งค่าเช่าปีต่อมาให้โจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมรับ การที่จำเลยได้ให้ความยินยอมตามสัญญาเช่าข้อ 1 นั้นไม่ใช่ความยินยอมตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน พ.ศ. 2489 มาตรา 16(5) และมีลักษณะเป็นการตกลงที่จะงดใช้พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันซึ่งเป็นการขัดต่อเจตนารมย์ของกฎหมายตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 769/2494 พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจปรึกษาสำนวนนี้แล้ว เรื่องนี้โจทก์ฟ้องว่า นางสาวถนอมจิตร์ ผู้เช่าคนเก่าได้ให้ความยินยอมที่จะออกจากที่เช่าจำเลยผู้รับโอนการเช่ารับปฏิบัติตามสัญญาที่นางสาวถนอมจิตร์ทำไว้ทุกประการ ถ้าผู้เช่าคนเก่าได้ให้ความยินยอมโดยเจตนาจะงดใช้พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า ฯลฯ ความยินยอมนั้นใช้ไม่ได้ไม่ผูกพันผู้เช่าคนใหม่ดังศาลชั้นต้นวินิจฉัยชอบแล้ว แต่ถ้าผู้เช่าคนเก่าได้ให้ความยินยอมไว้ตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่ามาตรา 16(5) และผู้เช่าคนใหม่ได้รับโอนเอาความยินยอมนั้นมาไฉนความยินยอมนั้นจะเสียไป เรื่องนี้ศาลชั้นต้นงดสืบพยานเสียทางพิจารณาไม่ได้ความชัดแจ้งว่า เป็นความยินยอมที่จะงดใช้พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า ฯลฯ หรือเป็นความยินยอมตาม มาตรา 16(5)

จึงให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองเสีย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ และค่าทนายความสามศาลอีก 100 บาท ให้ฝ่ายแพ้คดีในที่สุดเป็นผู้เสีย

Share