คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1031/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยผู้ทำการโรงสีไม่ได้ทำบัญชีข้าวและข้าวเปลือกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 201 อันมีโทษตาม มาตรา 208แต่ขณะพิจารณาคดีได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2496 บังคับแล้ว พระราชบัญญัตินี้ได้ยกเลิกและบัญญัติเรื่องการทำบัญชีข้าวและข้าวเปลือกใหม่ตาม มาตรา 40 โดยแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร มาตรา 87ทวิขึ้นใหม่และมีบทลงโทษตาม มาตรา 93 ซึ่งมีโทษเบากว่า การกระทำของจำเลยจึงต้องนำ มาตรา 87ทวิและ มาตรา 93 มาใช้บังคับและต้องนำอายุความสำหรับบทลงโทษ ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะพิจารณาคดีซึ่งมีโทษเบากว่ามาใช้บังคับแก่คดีด้วย
หน้าที่ทำบัญชีตาม พระราชบัญญัติบัญชีนั้นเป็นหน้าที่เฉพาะบุคคลตามที่ระบุไว้ใน พระราชบัญญัติการบัญชี มาตรา 7บุคคลอื่นที่ไม่มีหน้าที่ทำบัญชีจะเรียกว่าเป็นผู้ละเว้นกระทำไม่ได้ และจะช่วยสมรู้หรือสมคบในการไม่กระทำตามหน้าที่ของคนอื่นก็ไม่ได้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ผู้เดียว โจทก์ฝ่ายเดียวอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานสมรู้กระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกาถ้าเป็นเหตุในลักษณะคดีแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจแก้ไขคำพิพากษาให้เป็นผลดีแก่จำเลยที่ 1 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันกระทำผิดกฎหมายโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำการโรงสีไฟโพธิ์ศรีสวัสดิ์ ซึ่งสีข้าวได้วันหนึ่งตั้งแต่หนึ่งหาบหลวงขึ้นไปเพื่อการค้า จำเลยที่ 2 เป็นเสมียนมีหน้าที่ทำบัญชี จำเลยได้สมคบกันจำหน่ายข้าวสารให้แก่บริษัทข้าวไทย จำกัด ไป แล้วไม่ทำบัญชีจำหน่ายข้าวสาร ไม่ลงรายการในแบบ ภ.ข. 4 ก. กระทงหนึ่ง และจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ทำบัญชีตามประกาศ ร.ม.ว. กระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดประเภทที่ต้องทำบัญชีตาม พระราชบัญญัติการบัญชี จำเลยที่ 2 เป็นเสมียนมีหน้าที่ทำบัญชี จำเลยได้สมคบกันละเว้นการลงรายการเงินสดในบัญชีเงินสดค่าขายข้าวตามที่กล่าวในข้อแรกอีกกระทงหนึ่ง ขอให้ลงโทษตามประมวลรัษฎากร มาตรา 201, 208, 87 ทวิ, 93 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2489 มาตรา 17 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 มาตรา 40 ประกาศกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 29 เมษายน 2496 พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2482 มาตรา 6, 7, 10, 19 ประกาศ ร.ม.ว. กระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดประเภทกิจการที่ต้องทำบัญชี ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2491 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 63, 71

จำเลยรับสารภาพตลอดข้อหา

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ผิดตามประมวลรัษฎากรมาตรา 87 ทวิ, 93 ประกอบกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 มาตรา 40 ปรับ 2,000 บาท กระทงหนึ่งและตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2482 มาตรา 6, 7, 10, 19 อีกกระทงหนึ่งปรับ 500 บาทลดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 กึ่งหนึ่งคงให้ปรับทั้งสองกระทง 1,250 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 เสีย

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ด้วย

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานผู้สมรู้

ศาลฎีกาพิจารณาฟ้องโจทก์กระทงแรกเห็นว่าขณะจำเลยกระทำการอันเกิดเป็นคดีนี้ กฎหมายที่ใช้บังคับคือประมวลรัษฎากร มาตรา 201, 208 แต่จำเลยถูกฟ้องเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2497 ซึ่งเป็นเวลาที่สองมาตรานี้ถูกยกเลิกแล้ว โจทก์ฟ้องอ้างมาตรา 87 ทวิ และ 93 มาด้วย ศาลล่างให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายใหม่นี้เพราะเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่เมื่อขณะพิจารณาคดี ศาลฎีกาเห็นว่าแม้หากจำเลยจะผิดตามกฎหมายใหม่นี้ก็ตามก็ปรากฏว่าเมื่อนับถึงเวลาที่ฟ้องเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว โทษตามมาตรานี้ให้ปรับไม่เกินห้าพันบาท ฟ้องกระทงแรกของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78(4) และโดยที่เป็นเหตุในลักษณะคดีแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นได้ และจำเลยที่ 2 ก็ย่อมได้รับผลเช่นเดียวกัน สำหรับฟ้องโจทก์กระทงที่ 2 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2482 มาตรา 7 ประกอบด้วย มาตรา 6 ผู้มีหน้าที่ทำบัญชีคือผู้ประกอบกิจการ ผู้อื่นที่ไม่มีหน้าที่จะเรียกว่าเป็นผู้ละเว้นไม่ได้และจะสมรู้หรือสมคบในการไม่กระทำตามหน้าที่ของอีกคนก็ไม่ได้ดุจกัน เพราะเป็นหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้เฉพาะตัว จำเลยที่ 2จึงไม่มีความผิด (อ้างฎีกาที่ 465/2496) พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์กระทงแรกเสีย นอกนั้นคงยืน

Share