คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1485/2547

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้บริหารของลูกหนี้ยื่นข้อคัดค้านว่าผู้ทำแผนไม่มีคุณสมบัติและไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้บริหารแผน ทั้งแผนมีรายละเอียดที่ขัดต่อกฎหมายและไม่เป็นธรรม ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บริษัทอ. มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดสามารถเป็นผู้บริหารแผนได้ ทั้งแผนฟื้นฟูกิจการชอบด้วยกฎหมายจึงพิพากษายืนตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางที่เห็นชอบด้วยแผน ต่อมาวันที่ 5 กันยายน2544 ผู้บริหารของลูกหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาซึ่งมีข้อความเหมือนกับคำร้องฉบับลงวันที่เดียวกับที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนและมีคำสั่งว่าแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นโมฆะ และให้ยกเลิกแผนฟื้นฟูกิจการ และเนื่องจากที่ประชุมเจ้าหนี้ได้เลือกบริษัท ท. เป็นผู้ทำแผนอันดับ 2 เมื่อบริษัท อ. ไม่สามารถเป็นผู้ทำแผนได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งบริษัท ท. เป็นผู้ทำแผนแทนอันเป็นการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และมีคำสั่งตั้งบริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด เป็นผู้ทำแทน ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนโดยมีบริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด เป็นผู้บริหารแผนลูกหนี้ เจ้าหนี้รายที่ 207 และที่ 270 อุทธรณ์ ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1117/2545

ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้บริหารของลูกหนี้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 5 กันยายน 2544 ต่อศาลล้มละลายกลางว่า ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนในคดีนี้ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกันเป็นนิติบุคคลต่างด้าวไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและบริการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบุคคลอื่น มีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลต่างด้าวทั้งหมด จึงเป็นบุคคลต่างด้าวตามความหมายที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ข้อ 3ต้องห้ามมิให้ประกอบธุรกิจบริการซึ่งมีอยู่หลายประเภทตามบัญชีแนบท้ายของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนได้รับหนังสือรับรองจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้ประกอบธุรกิจบริการให้คำปรึกษาและแนะนำในส่วนที่เกี่ยวกับด้านการเงิน ยกเว้นด้านการซื้อขายหลักทรัพย์ แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ บัญชีกฎหมาย โฆษณา สถาปัตยกรรม และวิศวกรรมโยธา ตามที่ได้รับบัตรส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเท่านั้น หน่วยงานราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวไม่ได้อนุญาตให้ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนประกอบธุรกิจให้บริการจัดทำแผนและจัดการกิจการและทรัพย์สินของบุคคลอื่นแต่อย่างใด การประกอบกิจการของบริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟแพลนเนอร์ส จำกัด ในฐานะผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผน กล่าวคือ การที่ได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่ใช่การประกอบธุรกิจให้คำปรึกษาและแนะนำในส่วนที่เกี่ยวกับด้านการเงินตามใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้าแต่เป็นการประกอบกิจการให้บริการอย่างอื่นที่ไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ จึงไม่มีอำนาจประกอบธุรกิจให้บริการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ แม้ว่าจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนจากศาลล้มละลายกลางก็ตาม การทำหน้าที่เป็นผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนของบริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด จึงเป็นการกระทำนอกวัตถุประสงค์ที่ได้จดทะเบียนไว้และไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ทำให้นิติกรรมต่าง ๆ ที่ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนได้กระทำหรือจะกระทำต่อไปรวมทั้งการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับและไม่ผูกพันลูกหนี้ ขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนและมีคำสั่งว่าแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นโมฆะ และยกเลิกแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวและเนื่องจากในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกผู้ทำแผน ที่ประชุมเจ้าหนี้ได้เลือกบริษัททีพีไอแพลนเนอร์ส จำกัด เป็นผู้ทำแผนเป็นอันดับ 2 เมื่อบริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัดไม่สามารถเป็นผู้ทำแผนได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งบริษัททีพีไอ แพลนเนอร์ส จำกัด เป็นผู้ทำแผนแทน

ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนยื่นคำคัดค้านว่า บริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัดได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการสำนักงานสนับสนุนการค้าและการลงทุนประเภท 7.37 โดยระบุในคำขอข้อ 5 ว่า “เป็นการทำธุรกิจให้บริการและที่ปรึกษาเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหรือการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายหรือการปรับโครงสร้างหนี้ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งนี้ให้รวมถึงและไม่จำกัดเฉพาะการให้บริการในฐานะผู้ทำแผนในแผนฟื้นฟูกิจการ การเป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ การจัดหาเงินทุน และการแก้ไขเกี่ยวกับสภาพคล่องของลูกหนี้” และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2540 ออกบัตรส่งเสริมเลขที่ 1522/2542 ให้แก่บริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟแพลนเนอร์ส จำกัด ตามที่ขอ แสดงว่า บริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด เป็นผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการสำนักงานสนับสนุนการค้าและการลงทุนประเภท 7.37 หลังจากนั้นบริษัทได้จดทะเบียนรายละเอียดวัตถุประสงค์ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้สอดคล้องกับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและอธิบดีกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกหนังสือรับรองประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเพื่อแสดงว่าบริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด มีสิทธิประกอบธุรกิจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ข้อ 6 บัญชี ค หมวด 3(1) “การประกอบธุรกิจบริการให้คำปรึกษาและคำแนะนำในส่วนที่เกี่ยวกับด้านการเงิน ยกเว้นด้านซื้อขายหลักทรัพย์ แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ บัญชี กฎหมาย โฆษณา สถาปัตยกรรม และวิศวกรรมโยธา ตามที่ได้รับบัตรส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน” สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้จดทะเบียนวัตถุประสงค์ของผู้ทำแผน ผู้บริหารแผนตามตัวอักษรที่ได้ระบุไว้ในบัตรส่งเสริมเพื่อมีความหมายตรงกับความหมายที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ แม้ว่าการจดทะเบียนวัตถุประสงค์จะไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า บริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟแพลนเนอร์ส จำกัด สามารถทำงานในฐานะผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนได้ก็ตาม แต่การจดวัตถุประสงค์ดังกล่าวเป็นการจดรายละเอียดตามวิธีปฏิบัติของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ซึ่งความจริงแล้วมีความหมายรวมถึงวัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุมัติตามคำขอรับการส่งเสริม ลูกหนี้เคยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 22 มกราคม 2544โต้แย้งเกี่ยวกับประเด็นนี้ต่อศาลล้มละลายกลางขอให้มีคำสั่งว่าผู้ทำแผน ผู้บริหารแผนไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผน และในครั้งนั้นเพื่อเป็นการยืนยันถึงการมีวัตถุประสงค์ในการทำแผน บริหารแผนฟื้นฟูกิจการได้ ผู้ทำแผนผู้บริหารแผนจึงได้ส่งหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อขอยืนยันว่าตามที่กิจการของผู้ทำแผน ผู้บริหารแผนที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนนั้นได้รวมถึงการเป็นผู้ทำแผน ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการด้วยหรือไม่ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ตอบเป็นหนังสือฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 ซึ่งระบุยืนยันชัดเจน การดำเนินงานของบริษัทเกี่ยวกับการบริหารแผนจึงอยู่ในขอบข่ายธุรกิจด้านการให้คำปรึกษาและแนะนำในส่วนที่เกี่ยวกับด้านการเงินของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนประเภท 7.37 และกรมทะเบียนการค้าได้ออกหนังสือรับรองว่าบริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด ประกอบกิจการโดยมีวัตถุประสงค์เป็นผู้ทำแผน ผู้บริหารแผนได้ ที่ลูกหนี้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 5 กันยายน 2544 ต่อศาลล้มละลายกลางในขณะที่ลูกหนี้ได้รับสำเนาหนังสือยืนยันของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 ซึ่งยืนยันว่าการดำเนินงานของบริษัทเกี่ยวกับการบริหารแผนอยู่ภายในขอบข่ายธุรกิจการให้คำปรึกษาและแนะนำในส่วนที่เกี่ยวกับด้านการเงินของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนประเภท 7.37 แล้ว ดังนั้น ลูกหนี้จึงรู้อยู่แล้วว่าผู้ทำแผนผู้บริหารแผน ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้เป็นผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนได้ รวมทั้งลูกหนี้รู้อยู่แล้วว่ากรมทะเบียนการค้าออกหนังสือรับรองประกอบธุรกิจคนต่างด้าวเพื่อยืนยันว่าบริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด มีสิทธิประกอบธุรกิจตามที่ได้รับบัตรส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งลูกหนี้ทราบว่า วัตถุประสงค์ของบริษัทข้อ 9 ย่อมหมายรวมถึงการเป็นผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนด้วยแต่ลูกหนี้กลับยื่นคำร้องโดยจงใจปกปิดข้อเท็จจริงและจงใจปกปิดเอกสารหนังสือยืนยันของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้ศาลล้มละลายกลางหลงผิดเข้าใจว่าไม่มีข้อเท็จจริงและไม่มีเอกสารยืนยันดังกล่าว การยื่นคำร้องดังกล่าวจึงเป็นการยื่นโดยเจตนาไม่สุจริต เป็นคำร้องที่ไม่สมควรแก่การพิจารณาวินิจฉัย ขอให้ยกคำร้อง

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “เห็นว่า กรณีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่าการพิจารณาคำร้องของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้บริหารลูกหนี้ฉบับลงวันที่ 5 กันยายน 2544 ที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 หรือไม่ เห็นว่า ในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้บริหารของลูกหนี้ได้ยื่นข้อคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน ในข้อคัดค้านดังกล่าวผู้บริหารของลูกหนี้ได้คัดค้านว่าผู้ทำแผนไม่มีคุณสมบัติและไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้บริหารแผนได้ ทั้งแผนนั้นมีรายละเอียดที่ขัดต่อกฎหมายและไม่เป็นธรรม ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1117/2545 หน้า 43 และหน้า 44 ว่า บริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัดมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดจึงสามารถเป็นผู้บริหารแผนได้ ทั้งแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาจึงมีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางที่เห็นชอบด้วยแผน นอกจากนี้ในวันที่ 5 กันยายน 2544 ผู้บริหารของลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาซึ่งมีข้อความเหมือนกับคำร้องฉบับลงวันที่เดียวกันที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางโดยขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนและมีคำสั่งว่าแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นโมฆะ และให้ยกเลิกแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว และเนื่องจากที่ประชุมเจ้าหน้าที่เพื่อเลือกผู้ทำแผนนั้นได้เลือกบริษัททีพีไอแพลนเนอร์ส จำกัด เป็นผู้ทำแผนอันดับ 2 เมื่อบริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัดไม่สามารถเป็นผู้ทำแผนได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งบริษัททีพีไอ แพลนเนอร์ส จำกัด เป็นผู้ทำแผนแทน และศาลฎีกามีคำวินิจฉัยเป็นคำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 3747/2544 ว่า “คดีนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว และประเด็นตามคำร้องได้มีการวินิจฉัยในคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว ให้ยกคำร้องค่าคำร้องเป็นพับ” การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้บริหารของลูกหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางอันมีข้อความทำนองเดียวกับที่ยื่นต่อศาลฎีกาในวันเดียวกัน กับทั้งประเด็นเดียวกับที่มีการอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน อันเป็นการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายพ.ศ. 2542 มาตรา 14 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่น ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share