คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 717/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การรับโอนที่ดินโดยการยกให้ไม่มีค่าตอบแทน แม้จะได้แก้ทะเบียนทางเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว ก็จะยกขึ้นยันแก่ผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นโดยทางครอบครองหาได้ไม่

ย่อยาว

ได้ความว่าที่รายพิพาทเป็นของบิดาจำเลยครอบครองตลอดมา เมื่อร.ศ. 127 มารดาโจทก์ได้รับโฉนดตราจองที่ของมารดาโจทก์คลุมถึงที่พิพาทนี้ด้วย มารดาโจทก์ได้ถือโฉนดตราจองหาได้เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ ส่วนบิดาจำเลยและจำเลยเข้าครอบครองที่พิพาทจนกระทั่งบัดนี้เมื่อ พ.ศ. 2488 มารดาโจทก์โอนโฉนดให้แก่โจทก์ โจทก์ก็มาฟ้องขับไล่จำเลย อ้างว่าบิดามารดาจำเลยขออาศัยอยู่ บัดนี้จำเลยแสดงตนเป็นปรปักษ์จะเอาที่เป็นกรรมสิทธิ์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เห็นว่า โจทก์สืบไม่สมฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ฎีกาว่า การรับโอนของโจทก์โดยมารดายกให้ และได้แก้ทะเบียนทางเจ้าพนักงานที่ดินแล้วย่อมใช้ได้ จำเลยจะยกสิทธิครอบครองมายันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 521, 525 และ 1299

ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 521, 525เป็นเรื่องความสมบูรณ์ของการให้ตามธรรมดาสามัญ ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 คือผู้ให้ต้องมีสิทธิยกทรัพย์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง ส่วนมาตรา 1299 นั้น ห้ามเจ้าของยกขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนโดยเสียค่าตอบแทน คดีนี้โจทก์รับโอนโดยการให้โดยเสน่หา จึงบังคับตามมาตรา 1299 ไม่ได้

พิพากษายืน

Share