แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในหนังสือมอบอำนาจข้อ 5 มีว่าให้นายบานเย็นมีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนผู้รับมอบอำนาจคนอื่นที่ได้แต่งตั้งไว้เพื่อการให้เช่าทรัพย์สินของตัวการ และข้อ 6 มีว่าให้นายบานเย็นมีอำนาจอีกหลายประการ เช่นประนีประนอมยอมความและยื่นฟ้องต่อศาลด้วย ดังนี้ เมื่ออ่านรวมกันทั้งหมดต้องแปลว่าผู้มอบอำนาจประสงค์ให้นายบานเย็นมีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงเพื่อฟ้องขับไล่ผู้เช่าได้
การเช่าที่ดินมาโดยประสงค์จะปลูกสร้างโรงเรือนให้คนอื่นเช่า มิใช่เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตนเอง ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า พ.ศ.2489
ย่อยาว
นายสถิตย์ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากนายบานเย็นซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เป็นโจทก์ ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินที่จำเลยที่ 1 เช่าไปจากโจทก์อัตราเดือนละ 200 บาท โดยอ้างว่าสัญญาเช่าสิ้นอายุแล้ว และจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงทำเป็นโรงสูบฝิ่นโดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม
จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่านายสถิตย์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะการมอบอำนาจไม่ถูกต้อง สัญญาเช่ารายนี้ควรได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า 2489
ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสอง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์นั้น ในหนังสือมอบอำนาจของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ หมาย จ.1 ข้อ 5 มีว่าให้นายบานเย็นมีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนผู้รับมอบอำนาจคนอื่นที่ได้แต่งตั้งไว้เพื่อการให้เช่าทรัพย์สินของพระองค์ผู้มอบอำนาจและข้อ 6 มีว่า ให้นายบานเย็นมีอำนาจอีกหลายประการ เช่น ประนีประนอมยอมความ และยื่นฟ้องต่อศาลด้วยต่อมานายบานเย็นตั้งให้นายสถิตย์เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงในการตรวจตราและให้เช่าตึกโรงเรือนตลอดจนการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขับไล่ตามสัญญาเช่า เป็นการมอบอำนาจเฉพาะการ กับหนังสือมอบอำนาจหมาย จ.1 จะเขียนความในข้อ 5 ไว้ก่อนข้อ 6 แต่เมื่ออ่านรวมกันทั้งหมดแล้ว เห็นได้ว่าผู้มอบประสงค์ที่จะให้นายบานเย็นมีอำนาจมอบผู้รับช่วงต่อไปตลอดถึงการฟ้องร้อง เช่นคดีนี้ด้วย
ในข้อที่ว่าจะได้ความคุ้มครองจาก พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าหรือไม่นั้น เรื่องนี้เป็นคดีมโนสาเร่ ศาลสูงต้องฟังข้อเท็จจริงตามศาลล่างว่า จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินมาโดยประสงค์จะปลูกสร้างโรงเรือนให้คนอื่นเช่า มิใช่เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตนเอง สัญญาเช่ารายนี้จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่จำเลยอ้าง และสัญญาเช่านี้มีกำหนดเวลาแน่นอนเมื่อสิ้นกำหนดเวลานั้นแล้ว สัญญาเป็นอันระงับตามมาตรา 564 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงพิพากษายืน