แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขีดฆ่าถ้อยคำในพินัยกรรม โดยพยานผู้นั่งและเป็นผู้เขียนเซ็นรับรองไว้คนเดียวนั้น นับว่าไม่สมบูรณ์
การขีดฆ่าถ้อยคำบางคำในพินัยกรรมทำไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายบังคับไว้นั้น ไม่เป็นเหตุทำให้พินัยกรรมซึ่งทำขึ้นโดยถูกต้องเสียไปทั้งหมดคงใช้ไม่ได้แต่เฉพาะการขีดฆ่าที่ไม่ทำให้ถูกต้องเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์เป็นพี่สาวสามีจำเลย ได้ฟ้องขอแบ่งมรดกสามี จำเลยซึ่งวายชนม์แล้ว จากจำเลย
จำเลยต่อสู้ว่า สามีได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ทั้งหมดให้จำเลยแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแย้ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคงฟังข้อเท็จจริงตามศาลอุทธรณ์โดยเชื่อว่า สามีจำเลยได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้แก่จำเลยจริง ส่วนข้อที่โจทก์คัดค้านว่าพินัยกรรมนี้ ไม่สมบูรณ์ตาม มาตรา 1656 วรรคสุดท้าย เพราะในพินัยกรรมมีการขีดฆ่าอยู่ 9 คำ โดยนางสิงห์โตพยานผู้นั่งและเป็นผู้เขียนเซ็นรับรองไว้คนเดียวนั้น เห็นว่า พินัยกรรมดำเนินความว่า”ข้าพเจ้านายสุด คงรักษา ได้ทำพินัยกรรมเป็นคำสั่งไว้ (ซึ่งมีมาแต่เดิมและสินสมรส) ดังมีข้อความต่อไปนี้….” แล้วเห็นว่าถ้อยคำที่ถูกขีดฆ่านั้นเขียนเกินขึ้นมาอย่างผิดที่และไม่ได้ความจึงไม่ใช่ความสำคัญในที่นั้น แม้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานจะมิได้เซ็นกำกับไว้ด้วย ก็ไม่สมบูรณ์เฉพาะข้อความที่ขีดมานี้ หาทำให้ข้อความอื่นในพินัยกรรมเสียไปทั้งฉบับไม่ จึงพิพากษายืน