แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าอาวาสปลูกสร้างเรือนพิพาทในที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดโดยใช้เงินของผู้อื่นซึ่งมีศรัทธาถวายเพื่อเป็นที่พักเวลามาทำบุญนั้น เรือนนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดเพราะเป็นส่วนควบของที่ดิน
สิทธิที่จะปลูกสร้างในที่ดินของผู้อื่นจะเกิดขึ้นได้โดยเจ้าของที่ดินได้ก่อให้เกิดขึ้นโดยนิติกรรม อันผู้มีสิทธิอาจฟ้องร้องบังคับเอาได้
เจ้าอาวาสมีหน้าที่บำรุงรักษาจัดการสมบัติของวัด จึงมีสิทธิมอบอำนาจให้ไวยาวัจกรฟ้องร้องคดีแทนวัดได้
ย่อยาว
ได้ความว่า เรือนพิพาทพระศาสนโสภณเจ้าอาวาสองค์ก่อนได้จัดการปลูกสร้างขึ้นในที่ธรณีสงฆ์ของวัดด้วยเงินของนางรวย คอนศิริ เพื่อเป็นที่พักของนางรวยเวลามาทำบุญ ต่อมาพระศาสนโสภณองค์ก่อนนั้นมรณะภาพ โจทก์ฟ้องว่าเรือนพิพาทเป็นของวัด ให้ขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า เรือนนั้นไม่ใช่เป็นศาสนสมบัติของวัดพระศาสนโสภณองค์ก่อนได้ขอจากนางรวยมายกให้จำเลยที่ 2 ซึ่งได้ครอบครองมา 15 ปีเศษแล้ว และว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และเจ้าอาวาสองค์นี้ไม่มีอำนาจมอบให้ไวยาวัจจกรฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เรือนพิพาทไม่ใช่ส่วนควบตามมาตรา 109 เพราะนางรวยใช้ชั่วคราว ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของวัด ที่นางรวยยกให้พระศาสนโสภณองค์ก่อน ทำไม่ถูกแบบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า วัดเป็นนิติบุคคล และเจ้าอาวาสมีหน้าที่บำรุงรักษาจัดการสมบัติของวัดตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์จะได้มีการแต่งตั้งหรือยังก็ตาม พระธรรมปาโมกข์ซึ่งเป็นรองเจ้าอาวาสขณะเจ้าอาวาสองค์ก่อนมรณะภาพ ย่อมมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนวัดได้ เรือนเป็นของพระศาสนโสภณองค์ก่อน เมื่อมรณะภาพลงโดยไม่ทำพินัยกรรมไว้ ก็ตกเป็นของวัด พิพากษาให้ขับไล่จำเลยและใช้ค่าเสียหาย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยไม่ได้อ้างในคำให้การว่าพระธรรมปาโมกข์ไม่ใช่เจ้าอาวาสขณะมอบอำนาจ ต่อสู้แต่เพียงว่าไม่มีอำนาจมอบให้ฟ้องเท่านั้น ข้อนี้จึงไม่มีประเด็นจะวินิจฉัย
วัดวาอารามเป็นนิติบุคคล และทั้งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ได้กำหนดหน้าที่ให้เจ้าอาวาสมีหน้าที่บำรุงรักษาจัดการศาสนสมบัติของวัด เจ้าอาวาสย่อมเป็นผู้แสดงเจตนาแทนวัดในการมอบอำนาจฟ้องคดีได้ และตามธรรมดาโรงเรือนซึ่งปลูกสร้างลงในที่ดินย่อมเป็นส่วนควบของที่ดิน ใครเป็นเจ้าของที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์ในโรงเรือนนั้น นอกจากเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 109 หรือ มาตรา 1312 เรือนพิพาทจะต้องคิดอยู่กับที่ดินตลอดไป มิใช่ชั่วคราว นางรวยก็ดี พระศาสนโสภณองค์ก่อนก็ดี มิใช่เป็นผู้มีสิทธิที่จะปลูกโรงเรือนนั้นในที่ดินของผู้อื่นเพราะสิทธิเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็แต่เมื่อเจ้าของที่ดินได้ก่อให้เกิดขึ้นโดยนิติกรรมอันผู้มีสิทธิอาจฟ้องร้องบังคับเอาได้เท่านั้น การปลูกสร้างทรัพย์สิ่งใดติดลงไปในที่ดินของผู้อื่น โดยเจ้าของที่ดินมิได้ทักท้วงว่ากล่าวนั้น หาทำให้ผู้ปลูกเกิดสิทธิที่จะปลูกทำลงในที่ดินของผู้อื่นนั้นไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1310 และมาตรา 1311 จึงบัญญัติไว้บังคับในกรณีเช่นนี้ โดยถือหลักในเบื้องต้นว่าโรงเรือนนั้นย่อมเป็นส่วนควบกับที่ดิน และเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินเรือนพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดที่จำเลยต่อสู้กรรมสิทธิ์ว่าได้รับยกให้ หรือครอบครองปรปักษ์นั้นฟังไม่ได้ ส่วนการที่ว่าผู้ปลูกสร้างได้ทำโดยสุจริตหรือไม่ในอันที่จะบังคับการให้เป็นไปตามมาตรา 1310 หรือ 1311 นั้นไม่มีประเด็นที่จะวินิจฉัย
พิพากษายืน