คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 254/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าอาวาสมีอำนาจและหน้าที่ตาม พระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์2484 ในเรื่องจัดการทรัพย์สมบัติของวัด ถ้ามีกรณีฟ้องร้องเจ้าอาวาสจะฟ้องร้องเอง หรือมอบอำนาจให้ไวยาวัจกรฟ้องร้องแทนได้
ในสัญญายกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ปรากฏว่า ที่ธรณีสงฆ์เป็นผู้รับนั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าเป็นการให้เป็นทรัพย์สมบัติของวัด เพราะที่ธรณีสงฆ์ไม่ใช่บุคคล
ข้อความในสัญญาปรากฏว่า ‘สิ่งซึ่งปลูกสร้างลงในที่ดินรายนี้ยอมยกให้ด้วยทั้งสิ้น’ ดังนั้นเรือนที่ปลูกอยู่ในที่ดินในขณะทำสัญญายกให้ ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้รับ ในขณะทำสัญญาแล้วนั้นผู้ใดรื้อถอนภายหลังโดยไม่มีอำนาจอย่างใดย่อมต้องรับผิดในลักษณะละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางจ่างได้ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินกับเรือน 2 หลังให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่วัดบางแพรกใต้ โดยจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานโดยถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยได้รื้อเรือน 2 หลังไปเสีย จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยปลูกเรือนให้คงสภาพเดิมหรือใช้ราคา จำเลยให้การว่านายเฟี้ยมไม่ใช่เวยยาวัจจกรที่ได้รับแต่งตั้งจากทางการ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นางจ่างได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่จำเลยหนังสือให้กรรมสิทธิ์ที่ดินท้ายฟ้องไม่ใช่สัญญายกให้แก่วัดบางแพรกใต้ แต่เป็นสัญญายกให้แก่ที่ธรณีสงฆ์ (วัดบางแพรกใต้) ซึ่งไม่ใช่นิติบุคคลตามกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจทำนิติกรรมรับที่ดินได้โดยชอบ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

(1) วัดบางแพรกใต้เป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสเป็นหัวหน้าในวัดมีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ในเรื่องจัดการทรัพย์สมบัติของวัด ถ้ามีการฟ้องร้องเจ้าอาวาสจะฟ้องเอง หรือมอบอำนาจให้เวยยาวัจจกรฟ้องแทนตามลักษณะตัวการตัวแทน ก็ทำได้

(2) ในสัญญายกกรรมสิทธิ์ให้เป็นที่ธรณีสงฆ์นั้น ข้อความในสัญญาแสดงให้เข้าใจได้ว่าเป็นการยกที่ดินให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดบางแพรกใต้ คือให้เป็นทรัพย์สมบัติของวัดไม่มีทางที่จะเข้าใจไปได้ว่ายกให้แก่ที่ธรณีสงฆ์ เพราะที่ธรณีสงฆ์มิใช่เป็นบุคคลแปลว่าที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด (มาตรา 40(2) แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2484) สัญญานี้ใช้ได้ตามกฎหมาย

(3) ข้อความในสัญญาปรากฏว่า “สิ่งปลูกสร้างลงในที่ดินรายนี้ย่อมยกให้ด้วยทั้งสิ้น” ฉะนั้นเรือนที่พิพาทปลูกอยู่ในที่ดินขณะที่ทำสัญญายกให้ ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้รับในขณะทำสัญญาแล้วนั้น จำเลยรื้อถอนไปภายหลัง โดยไม่มีอำนาจอย่างใด ย่อมต้องรับผิดในลักษณะละเมิด

พิพากษายืน

Share