แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว 2486 มาตรา 5,6คนต่างด้าวจะเข้าถือสิทธิในที่ดินได้ ก็ต่อเมื่อมีสนธิสัญญาบัญญัติให้ไว้แต่ถ้าไม่มีสนธิสัญญาบัญญัติให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้คนต่างด้าวก็ไม่มีสิทธิจะได้มาซึ่งที่ดิน และแม้จะขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ไม่มีอำนาจอนุญาตได้
โจทก์เป็นคนจีนทำสัญญาซื้อที่ดินจากจำเลย ในเวลาที่จะต้องโอนที่ดินตามสัญญานั้น ประเทศจีนยังไม่ได้ประกาศใช้สนธิสัญญากับประเทศไทยโจทก์ไม่มีทางที่จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาได้ จำเลยต้องคืนเงินมัดจำให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อที่ดินจากจำเลย ตกลงว่าจะโอนภายใน 7 วันนับแต่คดีพิพาทระหว่างจำเลยกับนายตาบถึงที่สุดโจทก์วางมัดจำไว้ 2,000 บาท ครั้นถึงวันนัดโอน โจทก์ได้ไปหอทะเบียนที่ดิน จำเลยไม่มา จำเลยเป็นฝ่ายผิดนัด อีกประการหนึ่ง โจทก์ติดต่อกับพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ยอมโอน อ้างว่าโจทก์เป็นคนมีสัญชาติและเชื้อชาติจีน พระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว 2486 ห้ามอยู่สัญญาตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113ขอให้ศาลพิพากษาว่า สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นโมฆะให้จำเลยคืนมัดจำ จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาและรับมัดจำจากโจทก์ไว้จริง สัญญาไม่เป็นโมฆะ เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามและไม่เป็นการสุดวิสัยที่จะปฏิบัติ ในวันนัดโอนโจทก์ไม่ไปตามนัด โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดนัด
ศาลชั้นต้นเห็นว่า พระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว ไม่ได้ห้ามไว้ชัดแจ้ง มิให้คนจีนได้มาซึ่งที่ดินเป็นการวางเงื่อนไขไว้ ต้องให้ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนโจทก์มิได้จัดการ โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัด พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยคืนเงินมัดจำ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว 2486 มาตรา 5, 6 คนต่างด้าวจะเข้าถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ก็ต่อเมื่อมีสนธิสัญญาบัญญัติให้ไว้ และแม้จะมีสนธิสัญญาเช่นว่านั้นก็ตาม แต่การได้มาจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดทั้งต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย แต่ถ้าไม่มีสนธิสัญญาบัญญัติให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ คนต่างด้าวไม่มีสิทธิจะได้มาซึ่งที่ดิน และแม้จะขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอำนาจอนุญาตได้ ที่จำเลยเถียงว่าโจทก์ควรขออนุญาตพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อน ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน