แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โฉนดมีชื่อโจทก์กับจำเลยทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน และยังปรากฏตามเอกสารสัญญาให้กรรมสิทธิ์ที่ดินนี้ ซึ่งโจทก์ได้รับรองแล้วแปลความหมายได้แจ้งชัดว่า ผู้ให้(โจทก์) ได้ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่จำเลยทั้งสอง 2/3 ของที่ดินตามโฉนดนี้ ดังนี้ โจทก์จะนำสืบว่าเป็นแต่ยกให้จำเลยทั้งสองเพียงครึ่งหนึ่งของที่ดิน ย่อมเป็นการสืบแก้ไขเอกสารสัญญาซึ่งโจทก์ได้รับรองแล้วโดยตรง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ได้ยกที่ดินของโจทก์ให้จำเลยทั้งสองครึ่งหนึ่งและได้จัดการเอาชื่อจำเลยใส่ลงในโฉนดร่วมกับโจทก์ แต่จำเลยกลับจะเอาที่ดินนี้ 2 ส่วน ให้โจทก์ 1 ส่วนเป็นการรุกรานสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงขอให้ศาลจัดแบ่งที่นาให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง
จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์จำเลยต่างมีชื่อในโฉนดด้วยกันย่อมมีกรรมสิทธิ์เท่า ๆ กันโจทก์มีเจตนาให้ที่ดินแก่จำเลย 2 ใน 3 ตามที่ปรากฏในสัญญาให้กรรมสิทธิ์อันจดทะเบียนแล้ว จะเพิกถอนการให้ไม่ได้ จึงฟ้องแย้งให้โจทก์แบ่งแยกที่ดินให้จำเลยตามส่วนที่กล่าวแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์จำเลยแบ่งแยกที่ดินกันตามแต่จะตกลงกัน หากแบ่งแยกไม่ได้ ก็ให้ประมูล ถ้าประมูลไม่ตกลงกัน ก็ให้ขายทอดตลาด เอาเงินแบ่งกัน ให้โจทก์ได้ 1 ใน 3 จำเลยแต่ละคนได้คนละ 1 ใน 3
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ปรากฏตามเอกสารสัญญาให้กรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งโจทก์ได้รับรองแล้วในข้อ 3 ว่า “ที่ดินรายนี้ ทั้งสองฝ่ายขอตีราคาไว้เป็นจำนวนเงิน 2 ใน 3 เท่ากับ 800 บาท” เมื่ออ่านข้อความตอนนี้ประกอบกับข้อความในเอกสารให้กรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดแล้ว พึงแปลความหมายได้ชัดว่า ผู้ให้ (โจทก์) ได้ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่จำเลย 2 ใน 3 ของที่ดินตามโฉนดที่ 4128 กล่าวให้ชัดขึ้น ก็ว่าในที่ดินทั้งหมดตามส่วน ยกให้จำเลยทั้งสอง2 ส่วน อีกส่วนหนึ่งเป็นของโจทก์ตามที่มีชื่อในโฉดนั้นด้วย เมื่อเช่นนี้โจทก์จะนำสืบว่า เป็นแต่ยกให้จำเลยทั้งสองเพียงครึ่งหนึ่งของที่ดิน จึงเป็นการสืบแก้ไขเอกสารสัญญา ซึ่งโจทก์ได้รับรองแล้วโดยตรง ศาลล่างพิพากษาต้องกันมาชอบแล้ว
จึงพิพากษายืน