แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟ้องคดีบังคับจำนองนั้น แม้หนี้จำนองเกิน 10 ปีแล้วก็ยังฟ้องได้
ฟ้องขอให้ที่จำนองหลุดเป็นสิทธิหรือยึดที่จำนองขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้จำนองนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยผู้จำนองค้างดอกเบี้ยเกิน 5 ปี แล้ว และไม่ได้ต่อสู้ไว้ว่าที่จำนองมีราคาท่วมหนี้จำนอง ศาลก็ย่อมพิพากษาให้เอาที่จำนองหลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาให้ที่จำนองตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ หรือยึดที่จำนองมาขายทอดตลาดได้เงินสุทธิเท่าใด ไม่พอหนี้ให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ และให้ใช้ดอกเบี้ย
จำเลยต่อสู้ว่า สัญญาจำนองเป็นนิติกรรมอำพราง เพราะไม่ใช่กู้ยืมเงินกันจริง เป็นหนี้เกิดจากการเข้าหุ้นส่วนกัน มาคิดเป็นต้นเงินจำนอง และตัดฟ้องว่าคดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เป็นคดีจำนอง จำเลยจะยกอายุความขึ้นตัดไม่ได้ จึงพิพากษาให้ที่จำนองตกเป็นสิทธิแก่โจทก์ เพราะจำเลยขาดส่งดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ว่า ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนอง และว่าคดีขาดอายุความ กับคัดค้านว่า โจทก์มีคำขอให้ที่จำนองหลุด หรือยึดขายทอดตลาด ศาลหาควรพิพากษาให้ที่จำนองหลุด เพราะที่มีราคาท่วมหนี้จำนอง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เรื่องอายุความมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189 ยกเว้นไว้ คดีจึงไม่ขาดอายุความ ส่วนข้อคัดค้านอื่น ๆ จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ เมื่อจำเลยค้างดอกเบี้ยเกิน 5 ปีแล้ว โจทก์ก็ขอให้ที่หลุดเป็นสิทธิได้ตามมาตรา 729 จึงพิพากษายืน
จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายขึ้นมาเช่นเดียวกับชั้นอุทธรณ์
ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาขึ้นมา ชอบด้วยการพิจารณาและข้อกฎหมายแล้ว
จึงพิพากษายืน