คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 419/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่หญิงมีสามีฟ้องเรียกหนี้และส่วนมรดกของบุตรสาวที่ตายจากบุตรเขยนั้นเกี่ยวกับการเพื่อประโยชน์แก่สินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 จะต้องได้รับอนุญาตจากสามีเมื่อสามีร้องสอดเข้าเป็นโจทก์ร่วมขอรับชำระหนี้และส่วนมรดกด้วยนั้นพอถือว่าเป็นหลักฐานที่สามีอนุญาต
ทนายโจทก์ที่ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องนั้น แม้จะยื่นในชื่อของทนายเองก็ใช้ได้ เพราะเป็นการทำแทนตัวโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า จำเลยได้สมรสกับ ต. บุตรสาวโจทก์ ต. มีสินเดิมหลายอย่าง โจทก์ได้ออกเงินทดรองเซ้งห้องให้ ต. และโจทก์ได้ฝากเงินไว้กับจำเลยและ ต. กับผ้า 3 ไม้ ต. ตาย จำเลยไม่ยอมชำระและไม่ยอมแบ่งมรดก ต. มีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยคืนค่าเซ้งห้องและเงินฝากกับแบ่งส่วนมรดก ต. 2317 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยถ้าสินเดิมของ ต. หมดไปแล้วก็ขอให้หักสินสมรสใช้และหักสินเดิมใช้หนี้เงินฝากแก่โจทก์ ผู้ร้องสอดขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมอ้างว่าเป็นสามีโจทก์และบิดา ต. มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากจำเลยและรับมรดก ต. จำเลยต่อสู้หลายประการ

ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า ต. มีสินเดิมดังโจทก์ว่า จำเลยมีสินเดิม 1,000 บาท สินสมรสมีบางอย่าง โจทก์ฝากเงินไว้ 3,927 บาท และเป็นเจ้าหนี้ค่าเซ้งห้อง 4,000 บาท ที่จำเลยว่าโจทก์เอาของในร้านไป ไม่วินิจฉัยเพราะจำเลยไม่ได้ฟ้องแย้ง พิพากษาให้ขายทอดตลาดสินสมรส หักใช้หนี้เงินฝากและค่าเซ้งห้อง ถ้าไม่พอให้จำเลยใช้ ถ้าเหลือให้หักเงินใช้สินเดิมของ ต. และจำเลย เหลืออีกเท่าใดให้แบ่งให้ ต. และจำเลยคนละครึ่งรวมมรดก ต. แบ่งเป็น 4 ส่วน ให้โจทก์ 2 คน ๆ ละส่วน จำเลยได้ 1 ส่วน อีกส่วนหนึ่งเป็นของบุตร ต. ซึ่งตายตกได้แก่จำเลย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า

(1) เป็นคดีเกี่ยวกับการเพื่อประโยชน์แก่สินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 โจทก์ผู้เป็นหญิงมีสามีจะฟ้องได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสามีเพราะไม่เข้าข้อยกเว้น แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 ไม่ได้กำหนดวิธีให้อนุญาตหรือแบบแห่งคำอนุญาต จึงเพียงแต่ให้มีหลักฐานเป็นหนังสือในสำนวนความว่า สามีอนุญาตก็พอ เห็นว่าคำร้องสอดของผู้ร้องที่ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม เป็นหลักฐานเพียงพอแล้ว

2. เรื่องสินเดิมศาลล่างฟังมาชอบแล้ว

3. คำร้องเพิ่มเติมฟ้องที่ทนายโจทก์ยื่นนั้น แม้จะยื่นในชื่อของทนายแทนที่จะยื่นในชื่อของตัวโจทก์ก็ใช้ได้ เพราะเป็นเรื่องทำแทนตัวโจทก์ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(11) ให้ถือว่า ทนายของคู่ความเป็นคู่ความด้วย

4. ค่าเซ้งห้อง โจทก์จ่ายเงินให้แก่ผู้เช่าห้องคนเดิมไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้ ต. หรือจำเลย จึงไม่ใช่สัญญายืม และไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ที่ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ

5. เรื่องผ้าโจทก์ไม่อุทธรณ์ฎีกาจึงยุติ ส่วนเรื่องเงินฝากนั้นปรากฏบัญชีที่ ต. จดไว้ว่า “ส่วนของแม่ให้ขอยืม” ไม่ใช่เรื่องฝากดังโจทก์ฟ้อง ทั้งเชื่อว่า คงให้ยืมเป็นทุน เมื่อเป็นการยืมต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่ ต. และจำเลยไม่ได้ลงนามในเอกสารนี้จึงบังคับไม่ได้ ข้อความต่อมามีอีกว่า ฝากไว้อีกหนึ่งร้อย จึงฟังได้ว่าฝากเพียงร้อยบาท

6. ตามฟ้องและคำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยรับผิดในค่าเซ้งห้องและเงินฝากเป็นส่วนตัวด้วย ที่ศาลให้สินสมรสทั้งหมดรับผิดในการชำระหนี้ เป็นผลดีแก่จำเลยอยู่แล้ว

พิพากษาแก้เฉพาะหนี้เงินฝาก ให้เป็นเพียง 100 บาท

Share