คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 411/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขาดต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ตั้งแต่หมดอายุในวันที่ 6 กรกฎาคม 2485 ตลอดมานั้น จะปรับเป็นรายปีตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493และแก้ไข 2495 ไม่ได้ เพราะในขณะกระทำผิดกฎหมายในขณะนั้น คือ พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว 2479 และแก้ไข 2481บัญญัติไว้ให้ปรับได้เพียงไม่เกิน 12 บาท เท่านั้นนอกจากนั้น พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2495 ยังกำหนดอัตราโทษหนักกว่าบทกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดคดีจึงไม่มีทางลงโทษจำเลยได้ตาม พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าวพ.ศ.2495
อนึ่งการขาดต่ออายุใบสำคัญประจำตัวปีที่แล้วๆมา ก็ขาดอายุความฟ้องร้องตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 78(4) ซึ่งกำหนดให้ฟ้องภายใน 1 ปีแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นคนต่างด้าว ได้จดทะเบียนคนต่างด้าวรับใบสำคัญประจำตัวแล้วชนิดมีกำหนด 1 ปี จำเลยได้ต่ออายุใบสำคัญประจำตัวครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2484 หมดอายุในวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2485 จำเลยมีหน้าที่ต่อใบสำคัญประจำตัวภายใน 15 วัน นับแต่วันขาดอายุ แต่จำเลยละเลยไม่ต่อใบสำคัญภายในกำหนดตลอดมาจนบัดนี้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2479 มาตรา 17 พระราชบัญญัติทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2481 มาตรา 4 พระราชบัญญัติคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 มาตรา 5, 13, 20

จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามฟ้อง ให้ปรับจำเลยเป็นรายปี ๆ ละ 50 บาท รวม 10 ปี คงปรับ 500 บาท ลดกึ่งตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 59 คงปรับ 250 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การขาดต่ออายุ ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 9 นั้น ขาดอายุความฟ้องร้องตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 78(4) แล้วจึงพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด เฉพาะความผิดครั้งที่ 10 ครั้งเดียวให้ปรับ 50 บาท ลดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 59 กึ่งหนึ่ง คงปรับ 25 บาท

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว เห็นว่าใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของจำเลยในคดีนี้ หมดอายุในวันที่ 6 กรกฎาคม 2485 เป็นเวลาระหว่างการใช้พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2479 ซึ่งในขณะนั้นยังหาได้มีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ต่ออายุใบสำคัญคนต่างด้าวด้วยไม่ ต่อมาจึงได้มีพระราชบัญญัติทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2481 บัญญัติให้มีการต่ออายุใบสำคัญคนต่างด้าวภายใน 15 วัน นับแต่วันหมดอายุ ซึ่งถ้าผู้ใดฝ่าฝืนก็มีโทษตามมาตรา 17 ซึ่งมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 12 บาท ดังนั้นจะปรับเป็นรายปีตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2495 หาได้ไม่นอกจากนั้นโทษตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2495 กำหนดไว้หนักกว่ากฎหมายฉบับก่อน ซึ่งตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 8 ให้ใช้กฎหมายที่มีโทษเบาแก่ผู้ต้องหา คดีจึงไม่มีทางลงโทษจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2495 เพราะเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักกว่าบทกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิด

ส่วนฎีกาโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยรายปีก็ได้วินิจฉัยมาแล้วการขาดอายุใบสำคัญประจำตัวปีที่แล้วมา ขาดอายุความฟ้องร้องตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 78(4) แล้ว

จึงพิพากษายืน

Share