คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5189/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การพิจารณาคดีล้มละลายศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาได้เพียง 2 ประการเท่านั้น ประการที่หนึ่ง มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ประการที่สอง พิพากษายกฟ้อง บทบัญญัติมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ไม่เปิดช่องให้ศาลมีคำวินิจฉัยในประเด็นอื่นใดนอกเหนือจากที่กล่าวได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องแย้งให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์กระทำหรือไม่กระทำการใดได้เพราะเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม
ตามคำให้การของจำเลยที่ 3 และที่ 4 กล่าวว่าขอปฏิเสธหนี้สินที่โจทก์ทั้งสามอ้างตามสัญญารับผิดชดใช้หนี้เพราะเป็นสัญญาปลอม ซึ่งมีประเด็นที่โจทก์ทั้งสามจะต้องนำสืบถึงหนี้สินตามที่อ้างในคำฟ้อง และหากศาลพิจารณาแล้วเชื่อว่าสัญญารับผิดชดใช้หนี้เป็นสัญญาปลอมดังที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การต่อสู้ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องสถานเดียว จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญารับผิดชดใช้หนี้เป็นสัญญาปลอม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งหกเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งหกเป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญารับผิดชดใช้หนี้เป็นสัญญาปลอม

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่เห็นว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่อาจฟ้องแย้งได้ จึงไม่รับฟ้องแย้ง

จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน

จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 3และที่ 4 ว่า ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้น ชอบหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกาว่า เมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มิได้มีข้อห้ามโดยชัดแจ้งในการฟ้องแย้ง เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำให้การตามกฎหมายแล้วย่อมมีสิทธิฟ้องแย้งได้ เห็นว่า คดีล้มละลายเป็นคดีที่ฟ้องให้จัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายของบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้น การพิจารณาคดีล้มละลายไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อจะชี้ขาดหรือพิพากษาบังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์โดยเฉพาะ จึงย่อมผิดแผกแตกต่างกับการพิจารณาคดีแพ่งสามัญ โดยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 บัญญัติว่า “ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง” จากบทบัญญัติมาตรานี้ประเด็นสำคัญในคดีล้มละลายจึงอยู่ที่ว่าจำเลยซึ่งถูกฟ้องขอให้ล้มละลายเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้โจทก์จำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า1,000,000 บาท สำหรับจำเลยซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หรือไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาทสำหรับจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลหรือไม่ หากศาลพิจารณาได้ความจริงศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือแม้ได้ความจริงว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว หากแต่จำเลยนำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้อง จึงเห็นได้ว่าในการพิจารณาคดีล้มละลายศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาได้เพียง 2 ประการเท่านั้น ประการที่หนึ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ประการที่สองพิพากษายกฟ้อง บทบัญญัติมาตรา 14 ไม่เปิดช่องให้ศาลมีคำวินิจฉัยในประเด็นอื่นใดนอกเหนือจากที่กล่าวได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องแย้งให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์กระทำหรือไม่กระทำการใดได้อีกเพราะเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม คดีนี้ตามคำให้การของจำเลยที่ 3 และที่ 4 กล่าวโดยชัดแจ้งว่าขอปฏิเสธหนี้สินที่โจทก์ทั้งสามอ้างตามสัญญารับผิดชดใช้หนี้เพราะเป็นสัญญาปลอม ซึ่งมีประเด็นที่โจทก์ทั้งสามจะต้องนำสืบถึงหนี้สินตามที่อ้างในคำฟ้องและหากศาลพิจารณาแล้วเชื่อว่าสัญญารับผิดชดใช้หนี้เป็นสัญญาปลอมดังที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การต่อสู้ ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องสถานเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง ขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญารับผิดชดใช้หนี้เป็นสัญญาปลอมที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาต้องตามกันมาไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share