แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การโอนกิจการระหว่างโจทก์กับธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เป็นการโอนตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 5 ได้บัญญัติให้เพิ่มข้อความเป็นมาตรา 38 เบญจ โดยในวรรค 4 กล่าวถึงการควบกิจการหรือโอนกิจการธนาคารว่าให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีอากรต่าง ๆ เมื่อกฎหมายไม่ได้ระบุว่ายกเว้นอากรประเภทใด จึงต้องแปลว่าเป็นการยกเว้นอากรทุกประเภท ดังนั้นเมื่อโจทก์รับโอนกิจการของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) โดยอาศัยตามพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวหนังสือสัญญาการโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างสองธนาคาร จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร
การที่โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยซึ่งเป็นทายาทผู้ตายชำระหนี้ บอกกล่าวบังคับจำนองและบอกเลิกสัญญากู้เงินที่ผู้ตายทำไว้มิใช่กรณีที่หนี้เงินกู้ที่ผู้ตายจะต้องรับผิดต่อโจทก์ระงับสิ้นไปการจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์จึงยังไม่ระงับ
โจทก์รับโอนกิจการจากธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) มาเป็นของโจทก์ โจทก์จึงต้องรับโอนทั้งสิทธิและหน้าที่ของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เมื่อธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้รู้ถึงการตายของลูกหนี้ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม2539 จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รู้แล้วด้วย โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 28 มีนาคม 2543 จึงเกินกำหนด 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความและเป็นเหตุให้หนี้อุปกรณ์คือผู้ค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไว้ต่อโจทก์หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย แต่สัญญากู้เงินมีการจำนองเป็นประกันไว้ด้วย ดังนี้ แม้หนี้สินตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ด้วยการรับโอนสิทธิมาจากเจ้าหนี้เดิมย่อมใช้สิทธิบังคับเอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้นหาอาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นของผู้ตายได้ด้วยไม่ แม้สัญญาจำนองจะมีข้อความระบุให้เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้มาชำระหนี้ได้ในกรณีที่ทรัพย์สินที่จำนองไม่พอชำระหนี้ก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ และรับโอนกิจการสินทรัพย์ หนี้สินและสิทธิเรียกร้องจากธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 ทั้งนี้ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องให้ความเห็นชอบโครงการโอนกิจการของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยทั้งหกเป็นทายาทโดยธรรมของนางสุจิตรา กำทรทรัพย์ (ที่ถูก กัมทรทิพย์) ผู้ตายซึ่งถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 (ที่ถูกวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2538) ก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ตายเป็นลูกหนี้เงินกู้ของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันและมีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีทำสัญญาค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมกัน ปรากฏว่าผู้ตายมียอดหนี้คิดถึงวันฟ้องเป็นต้นเงิน 1,330,023.83 บาท และดอกเบี้ยจำนวน637,961.71 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,003,985.54 บาท โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิจากเจ้าหนี้เดิมได้ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยทั้งหกในฐานะทายาทโดยธรรมให้ชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยทั้งหกคงเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกชำระหนี้แก่โจทก์ในเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,330,023.83 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระก็ขอให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 186973 และเลขที่ 187054 ตำบลไทรม้า (บางไซรม้า) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน หากขายแล้วไม่พอชำระหนี้ก็ขอให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งหกออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งหกให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะหนังสือสัญญาการโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างโจทก์กับธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ไม่ปิดอากรแสตมป์ จึงไม่อาจรับฟังได้การบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบเพราะโจทก์ไม่ได้บอกกล่าวให้ชำระหนี้แต่เป็นการบอกเลิกสัญญากู้เงินเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2543 ทำให้หนี้เงินกู้ระงับ เมื่อหนี้ประธานระงับ การจำนองย่อมระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744(1) จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ค้ำประกัน ฟ้องโจทก์ขาดอายุความมรดก จำเลยทั้งหกในฐานะทายาทโดยธรรมย่อมรับผิดในหนี้สินของเจ้ามรดกเพียงเท่าทรัพย์ที่ตกทอดแก่ตนเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ในฐานะทายาทของนางสุจิตรา กัมทรทิพย์ ผู้ตาย ชำระเงิน 2,003,985.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,330,023.83 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 มีนาคม2543) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งหกไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 186973 และเลขที่ 187054 ตำบลไทรม้า (บางไซรม้า) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ถ้าไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์มรดกของนางสุจิตรา กัมทรทิพย์ ผู้ตายออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบกับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยทั้งหกยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยทั้งหกยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาของจำเลยทั้งหกเพียงว่า สำเนาให้อีกฝ่ายพร้อมสำเนาอุทธรณ์ จะคัดค้านประการใด ให้แถลงเข้ามาภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ มิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจคัดค้านและในเวลาเดียวกันศาลชั้นต้นสั่งในอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งหกยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาที่ศาลอนุญาตรับเป็นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหก สำเนาให้โจทก์แก้ภายใน 15 วัน ให้จำเลยทั้งหกนำส่งภายใน 5 วัน ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด หากส่งไม่ได้ ให้จำเลยทั้งหกแถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ส่วนจะส่งไปศาลฎีกาหรือไม่ ให้รอคำคัดค้านหรือคำแก้อุทธรณ์ก่อน ซึ่งโจทก์มิได้คัดค้านคำร้องภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ แต่ยื่นคำแก้อุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ศาลชั้นต้นจึงสั่งในคำแก้อุทธรณ์ว่า ให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกาเห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งหกอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แต่เมื่อโจทก์ไม่คัดค้านคำร้องขออุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาภายในกำหนดเวลาแก้อุทธรณ์ศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนมายังศาลฎีกาพออนุโลมได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งหกอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกในประการแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะหนังสือสัญญาโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.16 ไม่ปิดอากรแสตมป์ โดยจำเลยทั้งหกอุทธรณ์อ้างว่าตามพระราชกำหนดและประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวได้ยกเว้นเฉพาะค่าธรรมเนียมและค่าภาษีเพื่อการโอนกิจการระหว่างสองธนาคารเท่านั้น ไม่ได้ระบุให้มีการยกเว้นการเรียกเก็บค่าอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรด้วย เห็นว่า การโอนกิจการระหว่างโจทก์กับธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เป็นการโอนตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 5 ได้บัญญัติให้เพิ่มข้อความเป็นมาตรา 38 เบญจ โดยในวรรค 4 กล่าวถึงการควบกิจการหรือโอนกิจการธนาคารว่าให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีอากรต่าง ๆ เมื่อกฎหมายไม่ได้ระบุว่ายกเว้นอากรประเภทใด จึงต้องแปลว่าเป็นการยกเว้นอากรทุกประเภท เมื่อโจทก์รับโอนกิจการของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) โดยอาศัยตามพระราชกำหนดฉบับนี้ หนังสือสัญญาการโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างสองธนาคารเอกสารหมาย จ.16 จึงหาจำต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรดังที่จำเลยทั้งหกอ้างไม่
ส่วนที่จำเลยทั้งหกอุทธรณ์ในประการต่อไปว่า การที่โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งแก่จำเลยทั้งหกขอให้ชำระหนี้ บอกกล่าวบังคับจำนองและบอกเลิกสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.5 ทำให้สัญญากู้เงินที่ผู้ตายทำไว้ระงับสิ้นไป หนี้ประธานตามสัญญากู้เงินจึงระงับสิ้นไปด้วยเหตุอื่นมิใช่เหตุอายุความ คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386, 391 และ 392 การจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ก็ระงับสิ้นไปเช่นเดียวกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744(1) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติให้หนี้ระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้ มีการปลดหนี้การหักกลบลบหนี้การแปลงหนี้ใหม่ หรือการที่หนี้เกลื่อนกลืนกันเมื่อผู้ตายทำสัญญากู้เงินกับจำเลย 2 ครั้งโดยผู้ตายยังชำระหนี้แก่โจทก์ไม่ครบถ้วน และไม่ปรากฏเหตุอย่างอื่นที่จะทำให้หนี้เงินกู้ดังกล่าวระงับสิ้นไป หนี้เงินกู้ที่ผู้ตายจะต้องรับผิดต่อโจทก์จึงยังไม่ระงับ ดังนั้น การจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์จึงยังไม่ระงับสิ้นไปแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกในประการนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกในประการสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าก่อนฟ้องทนายโจทก์ได้ตรวจสอบทางทะเบียนบ้านของผู้ตายทราบแน่ชัดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2542 ว่า ผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2543 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงการตายของผู้ตาย แม้จำเลยทั้งหกจะนำสืบว่า จำเลยที่ 6 ได้ไปติดต่อธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2539 เพื่อขอเปลี่ยนชื่อเจ้าของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์จากชื่อผู้ตายเป็นชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกและธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ได้ทำการเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของบัญชีดังกล่าวก็ตาม จะถือว่าโจทก์ทราบการตายของผู้ตายนับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2539 แล้วไม่ได้ เพราะธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์ และมิได้กระทำในฐานะตัวแทนของโจทก์ อันเป็นการวินิจฉัยว่า แม้ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) จะทราบการตายของผู้ตายในวันที่ 8 มีนาคม 2539 ก็จะถือว่าโจทก์ทราบในวันดังกล่าวด้วยไม่ได้จำเลยทั้งหกอุทธรณ์ว่า ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ได้รู้หรือควรรู้ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2538 (ที่ถูกวันที่ 8 มีนาคม 2539) แต่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินภายในกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 คดีเป็นอันขาดอายุความต่อกองมรดกของผู้ตาย เมื่อธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ได้โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อผู้ตายไปยังโจทก์ ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความแล้ว โจทก์ย่อมรับไปซึ่งสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความนั้นด้วย ส่วนโจทก์ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์แล้วถือว่าโจทก์มิได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ข้อเท็จจริงฟังยุติตามทางนำสืบของโจทก์กับจำเลยทั้งหกและคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่คู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2539 จำเลยที่ 6 ได้ไปติดต่อกับธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน)สาขาสวนมะลิซึ่งเป็นสาขาเดียวกับที่ผู้ตายไปทำสัญญากู้เงินพิพาทต่อโจทก์ เพื่อขอเปลี่ยนชื่อเจ้าของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์จากชื่อผู้ตายเป็นชื่อจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 6 จะมิได้แจ้งขอเปลี่ยนรายการลูกหนี้จากชื่อผู้ตายมาเป็นชื่อของจำเลยทั้งหกด้วยก็ตามถือว่าธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ได้รู้ถึงการตายของผู้ตายตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2539 และวันที่ 13 ตุลาคม 2541 ได้มีการโอนกิจการของธนาคารมหานครจำกัด (มหาชน) มาเป็นของโจทก์ หลังจากนั้นวันที่ 28 มิถุนายน 2542 ทนายโจทก์ได้ตรวจสอบทางทะเบียนบ้านของผู้ตาย ทำให้โจทก์ทราบเรื่องที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย คดีจึงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า การที่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ได้ทราบเรื่องผู้ตายถึงแก่ความตายตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2539 และต่อมาได้มีการโอนกิจการของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ไปเป็นของโจทก์แล้ว จะถือว่าโจทก์ได้ทราบเรื่องที่ผู้ตายได้ถึงแก่ความตายตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2539 ด้วยหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์กับธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) จะเป็นคนละนิติบุคคลกันก็ตาม แต่โจทก์รับโอนกิจการจากธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) มาเป็นของโจทก์ โจทก์จึงต้องรับโอนทั้งสิทธิและหน้าที่ของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เมื่อธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน)เจ้าหนี้รู้ถึงการตายของผู้ตายแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2539 จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รู้แล้วด้วย เมื่อนับถึงวันฟ้องวันที่ 28 มีนาคม 2543 จึงเกินกำหนด 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความและเป็นเหตุให้หนี้อุปกรณ์คือผู้ค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไว้ต่อโจทก์หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย อย่างไรก็ดีเนื่องจากสัญญากู้เงินรายนี้มีการนำทรัพย์สินมาจำนองเป็นประกันไว้ด้วย ดังนี้ แม้หนี้สินตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ด้วยการรับโอนสิทธิมาจากเจ้าหนี้เดิมย่อมใช้สิทธิบังคับเอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ ทั้งนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น หาอาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นของผู้ตายได้ด้วยไม่ แม้สัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารหมายจ.22 และ จ.23 จะมีข้อความระบุให้เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้มาชำระหนี้ได้ในกรณีที่ทรัพย์สินที่จำนองไม่พอชำระหนี้ก็ตาม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยบางส่วนอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งหกในฐานะทายาทโดยธรรมของนางสุจิตรา กัมทรทิพย์ รับผิดชำระเงินจำนวน 2,003,985.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50ต่อปี ของต้นเงิน 1,330,023.83 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 มีนาคม 2543)จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 186973 และเลขที่ 187054 ตำบลไทรม้า (บางไทรม้า) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”