คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5912/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สภาพการทำงานในบริษัทจำเลย พนักงานส่วนใหญ่ต้องใช้มีดเป็นอุปกรณ์ในการทำงาน การเสพยาเสพติดอาจก่อให้เกิดอันตรายในการทำงานได้ นอกจากนี้การจำหน่ายยาเสพติดก็เป็นภัยต่อเศรษฐกิจของผู้เสพ อาจก่อให้เกิดอาชญากรรมขึ้น อีกทั้งทำให้ผู้เสพทำงานบกพร่อง ผลงานลดน้อยถอยลงอันมีผลกระทบต่อการทำงานของพนักงานสถานประกอบการของจำเลยซึ่งมีลูกจ้างจำนวนมากถึง 4,500 คน และบริษัทจำเลยเคร่งครัดไม่ให้พนักงานเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การที่โจทก์มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อาจก่อให้เกิดอันตรายในการทำงานของพนักงานทั้งเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงของจำเลย ถือได้ว่าโจทก์ประพฤติชั่วอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยซึ่งเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบธุรกิจเป็นผู้ผลิตอาหารบรรจุกระป๋อง เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2537 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานตำแหน่งช่างซ่อมบำรุง แผนกซ่อมบำรุง ฝ่ายปฏิบัติการโรงงาน ได้ค่าจ้างเป็นรายวัน วันละ 183บาท จ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นสุดของเดือน วันที่ 12 กันยายน 2544 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าแต่ให้เหตุผลว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 19 และข้อ 21 ทั้งที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีตลอดมา โจทก์จึงมีสิทธิได้ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการขาดรายได้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายวันละ 183 บาท นับแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2544 เป็นระยะเวลา 100 วัน เป็นเงิน 18,300 บาท ค่าชดเชย 43,920 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ก่อนเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ทำงานบกพร่องในหน้าที่และผิดระเบียบข้อบังคับ ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ซึ่งจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือหลายครั้ง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เพราะโจทก์ทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหมวด 9 ข้อ 19 และข้อ 21 ในข้อที่ว่าประพฤติชั่ว และกระทำผิดกฎหมายแพ่งหรือกฎหมายอาญากล่าวคือ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2544 เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลหนองพลับเข้าจับกุมโจทก์กับภรรยาของโจทก์พร้อมกับยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 165 เม็ด โดยกล่าวหาว่าร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้โดยโจทก์มีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน การกระทำของโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าวเพราะการประกอบธุรกิจของจำเลยมีพนักงานจำนวน 4,500 คน และพนักงานประมาณ 2,000 คน ต้องใช้มีดในการเจียน จิกตาสับปะรดและปอกผลไม้อื่น ซึ่งหากพนักงานคนใดเสพเมทแอมเฟตามีนแล้วมีอาการคลุ้มคลั่งไม่สามารถควบคุมสติได้จะเป็นอันตรายแก่พนักงานคนอื่น ๆ และหากจำเลยไม่เลิกจ้างโจทก์ก็ย่อมมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเมทแอมเฟตามีนในโรงงานของจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายและค่าชดเชยแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าชดเชย 43,920 บาท แก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประการเดียวว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยตามที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายจำนวน 165 เม็ด และเจ้าพนักงานตำรวจได้มีหนังสือแจ้งจำเลยว่าโจทก์มีพฤติกรรมลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมานาน เจ้าพนักงานตำรวจเข้าทำการตรวจค้นบ้านพักของโจทก์ พบเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่บนเพดานฝ้าในบ้าน พฤติการณ์ของโจทก์ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดถือว่าเป็นการประพฤติชั่ว ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 9 ว่าด้วยวินัยและการลงโทษข้อ 19 ซึ่งเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4) เห็นว่าสภาพการทำงานในบริษัทจำเลยนั้น พนักงานส่วนใหญ่ต้องใช้มีดเป็นอุปกรณ์ในการทำงาน การเสพยาเสพติดอาจก่อให้เกิดอันตรายในการทำงานได้ นอกจากนี้การจำหน่ายยาเสพติดก็เป็นภัยต่อเศรษฐกิจของผู้เสพ อาจก่อให้เกิดอาชญากรรมขึ้น อีกทั้งทำให้ผู้เสพทำงานบกพร่อง ผลงานลดน้อยถอยลงอันมีผลกระทบต่อการทำงานของพนักงานสถานประกอบการของจำเลยซึ่งมีลูกจ้างจำนวนมากถึง 4,500 คน และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ถูกดำเนินคดีอาญาข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และบริษัทจำเลยเคร่งครัดไม่ให้พนักงานเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การที่โจทก์มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อาจก่อให้เกิดอันตรายในการทำงานของพนักงานทั้งเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงจำเลย การที่โจทก์มีพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการพิจารณา จนมีคำสั่งฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาล และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล แม้จะยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลว่าโจทก์กระทำผิดตามฟ้องก็ถือว่าโจทก์ประพฤติชั่วอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหมวดที่ 9 ว่าด้วยวินัยและการลงโทษ ข้อ 19 ซึ่งเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอเกี่ยวกับค่าชดเชยด้วย นอกจากที่แก้ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share