แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่โจทก์รับโอนมามีสิทธิใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยในฐานะทางจำเป็นมาก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่า โจทก์จะได้สิทธิในทางพิพาทนั้นด้วยอย่างภารจำยอม เพราะทางจำเป็นมิใช่สิทธิที่ติดกับที่ดินที่จะโอนไปพร้อมกับที่ดินด้วยทั้งเป็นการจำกัดและริดรอนอำนาจกรรมสิทธิ์ที่ดินของบุคคลอื่น จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด เมื่อที่ดินซึ่งโจทก์รับโอนมามีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินอีกแปลงหนึ่งของโจทก์ซึ่งอยู่ติดกัน แม้ส่วนที่ดินที่ติดกันกว้างเพียง 1.16 เมตร และทางเดินออกสู่ทางสาธารณะกว้างเพียง 1.35 เมตร ไม่สามารถใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อผ่านเข้าออกได้ก็เป็นเรื่องความสะดวกของโจทก์ เท่านั้น หาใช่ว่าโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเปิดทางพิพาทในที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 29495 ตำบลบางพลัด (บางพลู)อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดยซื้อจากนางสาวจินดา อรรถสิทธิ์ และนางสาวเปล่งศรี อรรถสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวแบ่งแยกออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 795 ตำบลบางพลู อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 795 ดังกล่าว ที่ดินโจทก์อยู่ติดกับที่ดินของจำเลยทางด้านทิศตะวันตก เดิมนางละมูล โพธิประสิทธิ์ มารดาจำเลยเป็นผู้แบ่งแยกที่ดินในนามเดิมแบ่งออกเป็น6 โฉนดเพื่อยกให้บุตร และยกที่ดินโฉนดเลขที่ 29495 ให้แก่นางสาวจินดาและนางสาวเปล่งศรี ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 795 ส่วนที่เหลือให้จำเลยพร้อมกับถนนพิพาทกว้างประมาณ 7 เมตร ยาวประมาณ 60 เมตร ออกสู่ถนนจรัญสนิทวงศ์โดยประสงค์ให้ทุกคนใช้ร่วมกัน และนางละมูลให้จำเลยไปจัดการจดทะเบียนภารจำยอมบางส่วนให้แก่ที่ดินที่ถูกแบ่งแยกซึ่งถูกปิดกั้นทุกแปลง แต่จำเลยไม่จดทะเบียนภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 29495 ซึ่งไม่มีทางออกสู่ถนนจรัญสนิทวงศ์ หลังจากโจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวมาแล้ว โจทก์เข้าสวมสิทธิของนางสาวจินดาและนางสาวเปล่งศรีใช้ถนนที่สร้างขึ้นในที่ดินของจำเลยเป็นทางขนวัสดุสิ่งของจากถนนจรัญสนิทวงศ์เข้าไปในที่ดินเพื่อปรับปรุงที่ดินและก่อสร้างอาคาร เพราะเห็นว่าเป็นทางจำเป็น แต่จำเลยขัดขวางปักเสาปิดกั้นด้วยรั้วสังกะสีไม่ยอมให้โจทก์เข้าไปใช้ที่ดินและใช้ถนน โจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะอื่นใดได้ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนเสารั้ว สิ่งก่อสร้างที่จำเลยสร้างปิดกั้นทางเข้าออกของโจทก์ และให้จำเลยเปิดถนนให้โจทก์ใช้ทางได้อย่างสภาพเดิม หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลสั่งให้โจทก์มีอำนาจกระทำการรื้อถอนได้เองโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า นางละมูล โพธิประสิทธิ์ แบ่งแยกที่ดินและยกที่ดินโฉนดเลขที่ 29495 แก่นางสาวจินดา อรรถสิทธิ์ และนางสาวเปล่งศรี อรรถสิทธิ์ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องอุปการะดูแลช่วยเหลือยามแก่ชรา ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ นางละมูลยังคงสงวนสิทธิเก็บกินในที่ดินจนกว่าจะถึงแก่กรรม บุคคลทั้งสองจึงยังไม่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินสำหรับที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 795 จำเลยและพี่น้องตกลงใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยมอบหมายให้นายสมใจ โพธิประสิทธิ นำที่ดินว่างของทุกแปลงรวมถึงที่ดินพิพาทออกให้เช่าทำร้านอาหาร ให้เช่าที่จอดรถและนำค่าเช่าที่ได้เป็นค่าใช้จ่ายดูแลรักษานางละมูลซึ่งป่วย นางสาวจินดาและนางสาวเปล่งศรีไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องหรือใช้ประโยชน์ใด ๆ โจทก์ทราบเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ในที่ดินของจำเลยและญาติพี่น้องดังกล่าวและโจทก์มีบ้านพักอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านของจำเลยโดยมีที่ดินติดกับที่ดินแปลงพิพาทด้วย เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินนางสาวจินดาและนางสาวเปล่งศรีแล้ว ทำให้ที่ดินดังกล่าวมีเขตติดต่อกับที่ดินของโจทก์ทางทิศตะวันตกซึ่งสามารถผ่านออกไปสู่ถนนสาธารณะได้ ทางพิพาทมิใช่ทางจำเป็นโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะสวมสิทธิของนางสาวจินดาและนางสาวเปล่งศรี ไม่มีสิทธิหรือความจำเป็นใด ๆ ที่จะให้จำเลยเปิดทางถนนทางเดินรถเข้าสู่ที่ดินแปลงพิพาทของโจทก์ที่มีความกว้างถึง 7 เมตร ยาว60 เมตร และไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเปิดกว้างถึงเพียงนั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 795 ตำบลบางพลู อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เป็นของนางละมูลโพธิประสิทธิ์ ต่อมานางละมูลได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวเป็น 6 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 29492 ถึง 29497 และยกที่ดินโฉนดเลขที่ 29495 ให้แก่นางสาวจินดา อรรถสิทธิ์กับนางสาวเปล่งศรี อรรถสิทธิ์ ซึ่งเป็นหลาน และยกที่ดินคงเหลือของที่ดินโฉนดเลขที่ 795ให้แก่จำเลย โดยได้กันบางส่วนเป็นทางให้ผู้ที่ได้รับการยกให้ที่ดินที่แบ่งแยกทุกแปลงใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ ตามผังการแบ่งแยกเอกสารหมาย จ.3, จ.10 และโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2, จ.11 ในวันที่ 14 สิงหาคม 2541 นางสาวจินดาและนางสาวเปล่งศรีขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 29495 เอกสารหมาย จ.11 ให้แก่โจทก์คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เปิดทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 795 ของจำเลยเป็นทางจำเป็นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์และจำเลยเบิกความรับกันว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 29495 ที่โจทก์ซื้อจากนางสาวจินดาและนางสาวเปล่งศรีนั้นทางด้านทิศตะวันตกติดกับที่ดินอีกแปลงหนึ่งของโจทก์ซึ่งใช้ปลูกบ้านอยู่อาศัย และมีทางเดินจากที่ดินที่โจทก์ปลูกบ้านออกสู่ทางสาธารณะได้ และจากที่ดินโฉนดเลขที่ 29495 ที่โจทก์ซื้อมาดังกล่าวสามารถเดินไปยังที่ดินโจทก์ที่ปลูกบ้านแล้วเดินต่อไปยังทางสาธารณะได้ตามผังการแบ่งแยกแผนผังสังเขปที่ตั้งที่ดินเอกสารหมาย จ.10และ ล.1 ซึ่งตามรายงานการเดินเผชิญสืบกับภาพถ่ายการเดินเผชิญสืบ (ภาพที่ 6)และภาพถ่ายหมาย จ.13 ปรากฏว่าที่ดินที่โจทก์ซื้อมากับที่ดินที่โจทก์ปลูกบ้านส่วนที่ติดกันกว้าง 1.16 เมตร ส่วนทางเดินจากบ้านโจทก์ออกสู่ทางสาธารณะก็กว้าง 1.35เมตร ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า แม้เดิมผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 29495 ที่โจทก์รับโอนมาจะมีสิทธิใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยในฐานะทางจำเป็นก็ไม่ได้หมายความว่าโจทก์ผู้รับโอนที่ดินจะได้สิทธิใช้ทางพิพาทนั้นด้วยอย่างภารจำยอม เพราะทางจำเป็นมิใช่สิทธิที่ติดกับที่ดินที่จะโอนไปพร้อมกับที่ดินด้วยทั้งเป็นการจำกัดและริดรอนอำนาจกรรมสิทธิ์ที่ดินของบุคคลอื่น จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ 29495 ซึ่งโจทก์รับโอนมามีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินอีกแปลงหนึ่งของโจทก์ซึ่งอยู่ติดกัน แม้ส่วนที่ดินที่ติดกันกว้างเพียง1.16 เมตร และทางเดินออกสู่ทางสาธารณะกว้างเพียง 1.35 เมตร ไม่สามารถใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อผ่านเข้าออกได้ก็เป็นเรื่องความสะดวกของโจทก์เท่านั้นหาใช่ว่าโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเปิดทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 795 ของจำเลยเป็นทางจำเป็น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องของโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน