คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2702/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยนับแต่อยู่กินฉันสามีภริยากันมาเป็นไปโดยปกติ จำเลยเพิ่งมีความประพฤติเสียหายหลังจากโจทก์ไปทำงานที่ดินแดนไต้หวันและทราบว่าโจทก์จะมีสามีใหม่ ประกอบกับจำเลยอยู่ในสภาพคนพิการต้องสูญเสียดวงตาไปเมื่อครั้งทำงานที่ประเทศบรูไนแล้วประสบอุบัติเหตุทำให้ดวงตาพิการและนายจ้างส่งตัวจำเลยกลับประเทศไทย ไม่สามารถทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้ดังก่อนจำเลยย่อมเกิดความกลัดกลุ้มใจยิ่งขึ้น โจทก์จึงควรสงสารให้ความเห็นใจจำเลย มิใช่ซ้ำเติมหรือกระทำการอันเป็นการบั่นทอนสภาพจิตใจจำเลย แม้บางครั้งจำเลยดื่มสุรามากเกินไปจนทำให้มีปากเสียงกระทบกระทั่งกับบุพการีหรือบุคคลในครอบครัวของโจทก์ก็ตาม แต่พฤติกรรมก้าวร้าวของจำเลยเนื่องมาจากความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของโจทก์ที่ส่งจดหมายมาบอกขณะโจทก์อยู่ที่ดินแดนไต้หวันว่าโจทก์มีสามีใหม่แล้วทั้งจำเลยยินยอมแยกตัวออกไปอยู่ที่บ้านบิดามารดาจำเลยตามความประสงค์ของโจทก์เพื่อมิให้เกิดความบาดหมางกับบุพการีของโจทก์ พฤติการณ์ของจำเลยที่ไม่ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวหรือดื่มสุราดังกล่าว และไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้ถ้อยคำดุด่าบิดาโจทก์ให้รับความเสียหายอย่างไร ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติชั่วหรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2) และ (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตร1 คน พักอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านบิดาของโจทก์ เมื่อประมาณปี 2541 หลังจากที่โจทก์ไปทำงานรับจ้างที่ดินแดนไต้หวัน จำเลยประพฤติชั่ว ทำตนเสเพล เที่ยวกลางคืนดื่มสุราเป็นอาจิณ หาเรื่องทะเลาะวิวาท ตลอดจนดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม ดุด่าบิดามารดาของโจทก์อย่างร้ายแรง ไม่ประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัว บิดาของโจทก์จึงไล่จำเลยออกจากบ้าน ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยหรือบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดจากโจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์เพียงผู้เดียว

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรผู้เยาว์ 1 คน คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2) และ (3) หรือไม่ คดีนี้โจทก์มีนายทองอยู่หรือทองภู หอมมาลัย บิดาโจทก์ นางบุญชู พันธ์โพงา และเด็กหญิง จ.บุตรผู้เยาว์ เป็นพยานเบิกความถึงพฤติการณ์ของจำเลยว่า โจทก์จำเลยและบุตรผู้เยาว์อาศัยอยู่กับนายทองอยู่บิดาโจทก์ เมื่อปี 2535 จำเลยไปทำงานที่ประเทศบรูไนและประสบอุบัติเหตุทำให้ดวงตาพิการ 1 ข้าง นายจ้างจึงส่งตัวจำเลยกลับประเทศไทยต่อมาปี 2541 โจทก์จะเดินทางไปทำงานที่ดินแดนไต้หวันจึงได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลย ระหว่างที่โจทก์ทำงานอยู่ที่ดินแดนไต้หวัน จำเลยไม่ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวไม่ดูแลบุตรผู้เยาว์ ดื่มสุราเมาอาละวาดขู่จะฆ่าบิดาโจทก์จนบิดาโจทก์ต้องไล่จำเลยออกไปจากบ้าน จำเลยจึงกลับไปอยู่กับบิดามารดาจำเลย จนกระทั่งกลางปี 2544โจทก์เดินทางกลับประเทศไทยและขอหย่ากับจำเลย แต่จำเลยไม่ยอมหย่า เห็นว่าในส่วนความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาของโจทก์จำเลยนั้น โจทก์เบิกความยืนยันว่านับตั้งแต่โจทก์จำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากันมา จำเลยไม่เคยมีความประพฤติเสียหายใด ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นไปโดยปกติ ไม่มีปัญหาทะเลาะวิวาทกันอีกทั้งในช่วงที่จำเลยไปทำงานที่ประเทศบรูไน จำเลยก็ส่งเงินมาให้โจทก์ใช้จ่ายในครอบครัวตลอดมา จำเลยเพิ่งจะมีความประพฤติเสียหายหลังจากโจทก์เดินทางไปทำงานที่ดินแดนไต้หวันและทราบว่าโจทก์จะมีสามีใหม่ ซึ่งเด็กหญิง จ. บุตรผู้เยาว์และนายทองอยู่บิดาโจทก์ ก็เบิกความสอดคล้องกับโจทก์ว่าก่อนหน้าที่โจทก์จะไปทำงานที่ดินแดนไต้หวัน จำเลยไม่เคยมีความประพฤติเมาสุราอาละวาดทั้งมีความเคารพเชื่อฟังบิดาโจทก์ จากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจึงบ่งชัดว่า โดยลักษณะนิสัยตามปกติของจำเลยแล้วจำเลยไม่มีความประพฤติเสียหาย แต่ที่พฤติกรรมของจำเลยได้แปรเปลี่ยนไปหลังจากโจทก์เดินทางไปทำงานที่ดินแดนไต้หวันนั้น ก็คงต้องมีสาเหตุปัจจัยสำคัญอันเกิดจากการที่เกรงว่าโจทก์จะมีสามีใหม่มากกว่า ซึ่งโจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยยอมรับว่า ขณะที่โจทก์อยู่ดินแดนไต้หวันโจทก์เคยส่งจดหมายตามเอกสารหมาย ล.1 มายังจำเลยโดยโจทก์บอกว่าโจทก์มีสามีใหม่แล้ว ซึ่งโจทก์น่าจะตระหนักได้ดีว่าจดหมายดังกล่าวต้องเพิ่มความทุกข์ให้แก่จำเลยเป็นทวีคูณ เพราะเมื่อโจทก์เดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศซึ่งต้องห่างไกลกันย่อมทำให้จำเลยเกิดความว้าเหว่คิดถึงโจทก์ ประกอบกับจำเลยอยู่ในสภาพคนพิการต้องสูญเสียดวงตาไปจากการทำงาน จึงไม่สามารถหาการงานทำเป็นกิจจะลักษณะได้อีก เชื่อได้ว่าเป็นสาเหตุให้จำเลยเกิดความกลัดกลุ้มใจยิ่งขึ้น การกระทำของโจทก์ที่บอกจำเลยว่าโจทก์มีสามีใหม่แล้วนั้นไม่ว่าด้วยเจตนาหรือความตั้งใจใดก็ตาม โจทก์ควรมีมโนธรรมว่าโจทก์กับจำเลยเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา เมื่อจำเลยต้องประสบเคราะห์กรรมดวงตาพิการจนไม่สามารถทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวได้ดังก่อน โจทก์ควรสงสารให้ความเห็นอกเห็นใจจำเลย มิใช่ซ้ำเติมหรือกระทำการอันเป็นการบั่นทอนสภาพจิตใจของจำเลยเช่นนี้ เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวระหว่างโจทก์และจำเลยมาจากสาเหตุที่เกิดจากโจทก์อันทำให้จำเลยต้องดื่มสุรา แม้บางครั้งจำเลยจะดื่มมากเกินไปจนทำให้มีปากเสียงกระทบกระทั่งกับบุพการีหรือบุคคลในครอบครัวของโจทก์ก็ตาม แต่พฤติกรรมก้าวร้าวของจำเลยก็เนื่องมาจากความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของโจทก์ ทั้งจำเลยก็ยินยอมที่จะแยกตัวออกไปอยู่ที่บ้านบิดามารดาจำเลยตามความประสงค์ของโจทก์เพื่อมิให้เกิดความบาดหมางกับบุพการีของโจทก์แล้ว ดังนั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ไม่สามารถทำมาหาเลี้ยงครอบครัวได้อันเนื่องมาจากความพิการของจำเลยก็ดี หรือดื่มสุราเพื่อดับความกลัดกลุ้มจากสภาพความแตกแยกของครอบครัวก็ดี และก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้ถ้อยคำดุด่าบิดาโจทก์ให้ได้รับความเสียหายอย่างไร ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติชั่วหรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2) และ (3) เมื่อเป็นเช่นนี้จึงคงให้โจทก์จำเลยเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ต่อไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share