แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้มาแต่แรกแล้วว่า ล. ผู้เป็นบิดาได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่ก. และโจทก์ที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) หายไป แล้วจำเลยที่ 1 นำหลักฐานใบแจ้งความไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)แทนฉบับที่อ้างว่าหายไป จึงมีเจตนาที่จะกระทำผิดหาใช่เป็นเรื่องที่ขาดเจตนาไม่
ความผิดฐานแจ้งความเท็จคือการนำความเป็นเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้อยู่ว่า ล. บิดาได้ขายที่ดินพิพาทไปแต่กลับไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) หาย และจำเลยที่ 1 นำสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไปขอออกใบแทน จนกระทั่งไปดำเนินการรับโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินที่แท้จริงต้องได้รับความเสียหายแล้ว หาใช่ไม่เป็นความผิดเพราะโจทก์ทั้งสองไม่เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องไม่
การที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานที่ดินเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน โดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อขอใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แล้วรับโอนมรดกที่ดินมาเป็นชื่อของตนการกระทำของจำเลยที่ 1จึงเป็นกรรมเดียว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 90,91, 137, 267, 268
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดสองกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนายเลียบหรือเรียบ สัตย์ซื่อ ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 3 และเป็นบิดาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยมีหลักฐานเป็นแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ต่อมานายเกิด ปั้นศิริ สามีโจทก์ที่ 1 ได้นำหนังสือมอบอำนาจของนายเลียบไปขอออกหนังสือสำคัญเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) และโอนขายให้ตนเองแต่ทางอำเภอเพียงดำเนินการให้เฉพาะการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ในนามของนายเลียบ ครั้นวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำความไปแจ้งเพื่อเป็นหลักฐานต่อร้อยตำรวจเอกประเสริฐ มาเหม ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอพนัสนิคมว่าหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินพิพาทได้หายไปตามบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.1 แล้วจำเลยที่ 1 นำใบแจ้งความดังกล่าวไปยื่นประกอบคำขอต่อนายสมศักดิ์สุ่มเจริญ เจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอให้ทางสำนักงานที่ดินจังหวัดออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ฉบับที่อ้างว่าหายไป คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาหรือไม่ โจทก์ทั้งสองมีตัวโจทก์ที่ 1และที่ 2 มาเบิกความว่า โจทก์ที่ 1 และนายเกิด ปั้นศิริ สามีโจทก์ที่ 1 ได้ซื้อที่ดินแปลงพิพาทจากนายเลียบเมื่อปี 2505 โดยมีการส่งมอบการครอบครองและหนังสือสำหรับที่ดินให้นายเกิดยึดถือไว้ ต่อมานายเลียบหลบหนีคดีอาญาจึงเพียงทำหนังสือมอบอำนาจให้นายเกิดไปดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) พร้อมทำนิติกรรมโอนขายให้นายเกิด แต่เนื่องจากลายมือชื่อของนายเลียบไม่เหมือนเดิมที่เคยเซ็นไว้นายอำเภอจึงยอมเปลี่ยนหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินจากแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน(ส.ค.1) เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แต่ไม่ดำเนินการเรื่องการโอนขายที่ดินให้ นายเกิดกับจำเลยที่ 3 ไปรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ด้วยกันและคงมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ดังกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ยึดถือไว้ครั้นปี 2517 โจทก์ที่ 1 ได้แบ่งขายที่ดินพิพาทด้านทิศตะวันออกให้โจทก์ที่ 2 จำนวน8 ไร่ ต่อมาหลังจากที่นายเกิดและนายเลียบได้ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 เคยไปพบโจทก์ที่ 1เพื่อสอบถามถึงที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์ที่ 1 ก็ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าเป็นการขายขาดมิใช่ขายฝาก พร้อมทั้งนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ให้จำเลยที่ 1 ดูก่อนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและขอออกใบแทนหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1และ จ.11 นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองยังมีนายหยุด ดิเสถียร บุตรนางเย็นซึ่งมีที่ดินติดต่อกับที่ดินพิพาททางทิศตะวันออก นายมนัส ปั้นศิริ บุตรโจทก์ที่ 1 และเป็นน้องชายโจทก์ที่ 2 กับนายสมพงษ์ กลัดสมบัติ มาเบิกความสนับสนุนว่า โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมากกว่า 30 ปี จนถึงปัจจุบัน ฝ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีตัวจำเลยที่ 3 มาเบิกความทำนองเดียวกันว่า นายเลียบหลบหนีคดีอาญา ตั้งแต่ปี 2505แต่ก็แอบกลับมาเยี่ยมบ้านเป็นครั้งคราว โดยไม่ได้เล่าอะไรให้ฟังระหว่างนั้นจำเลยที่ 3เป็นผู้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จนกระทั่งทำไม่ไหวจึงให้โจทก์ที่ 1 เข้าทำประโยชน์แทน ครั้นปี 2533 นายเลียบป่วยหนักจึงได้เล่าให้ฟังว่าไปกู้เงินนายเกิดไว้ 1,000 บาท และมอบแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ให้นายเกิดยึดถือไว้ จำเลยที่ 3 เพียงทราบว่าเมื่อปี 2505 นายเลียบเคยไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แต่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ เพราะต้องหลบหนีคดีอาญา หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 ก็ไม่ทราบเรื่องราวการขอออกหนังสือสำคัญอีกเลยและก่อนไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ จำเลยทั้งสามก็ช่วยกันค้นหาหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินพิพาทแล้ว แต่หาไม่พบ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่าไม่เคยไปพบโจทก์ที่ 1 ที่บ้านของโจทก์ที่ 1 ส่วนที่โจทก์ที่ 1 อ้างว่านายเกิดซื้อที่ดินจากนายเลียบนั้น ปรากฏว่าต่อมานายเกิดได้ไปขอยกเลิกการซื้อขายนั้นแล้ว ตามคำขอยกเลิกคำขอและบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 โดยมีนายอู๋ วิทยประภารัตน์ กำนันตำบลท้องที่ กับนายประมวล วงศ์พรประดิษฐ์ ผู้ใหญ่บ้านท้องที่ซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่มาเบิกความยืนยันว่าเห็นฝ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เห็นว่า ฝ่ายโจทก์ทั้งสองนอกจากมีภาพถ่ายหมาย จ.7 มาแสดงถึงการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแล้วยังมีนายหยุด ดิเสถียร บุตรนางเย็นซึ่งรับมรดกที่ดินของนางเย็นที่อยู่ติดต่อกับที่ดินพิพาทด้านทิศตะวันออก และนายสมพงษ์ กลัดสมบัติ ผู้ไปร่วมลงแขกดำนาในที่ดินพิพาทมายืนยันว่า คงเห็นแต่ฝ่ายโจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา ซึ่งแม้ฝ่ายจำเลยที่ 1และที่ 2 จะมีกำนันและผู้ใหญ่บ้านท้องที่มาเบิกความยืนยันเช่นกัน แต่เมื่อพิจารณาคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่รับว่านายเกิดได้นำพยานบุคคลซึ่งลงชื่อรับรองลายมือชื่อของนายเลียบในหนังสือมอบอำนาจเอกสาร จ.2 มายืนยันต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นลายมือชื่อที่นายเลียบลงชื่อไว้จริง ตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย ล.7 และ ล.8 ประกอบกับจำเลยที่ 1 ตอบคำถามค้านทนายโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเมื่อปี 2537 ส่วนก่อนหน้านั้นใครจะดูแลครอบครองไม่ทราบจำเลยที่ 1 ได้ย้ายไปอยู่ที่อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ทั้งครอบครัวตั้งแต่เรียนหนังสือจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 อันแสดงว่าย้ายไปตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และยังรับอีกว่าปัจจุบันบุตรโจทก์ที่ 1 เป็นผู้เข้าทำประโยชน์ ส่วนจำเลยที่ 3 ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ทั้งสองเช่นกันว่า นายเกิดและโจทก์ที่ 1 เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2505 และจำเลยที่ 1 เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเมื่อปี 2537 เพียงปีเดียวแล้ว ข้อเท็จจริงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้มาแต่แรกแล้วว่านายเลียบผู้เป็นบิดาได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่นายเกิดและโจทก์ที่ 1 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) หายไป แล้วจำเลยที่ 1 นำหลักฐานใบแจ้งความไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แทนฉบับที่อ้างว่าหายไป จึงมีเจตนาที่จะกระทำผิดดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษา กรณีหาใช่เรื่องที่ขาดเจตนาไม่ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาอ้างว่า โจทก์ทั้งสองไม่เสียหายเพราะที่ดินพิพาทเพียงมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ไม่เกี่ยวกับการได้ที่ดินมาด้วยการครอบครองนั้น เห็นว่า ความผิดฐานแจ้งความเท็จก็คือการนำความเป็นเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงาน การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้อยู่ว่านายเลียบบิดาได้ขายที่ดินพิพาทไปแต่กลับไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) หายและจำเลยที่ 1 นำสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไปขอออกใบแทน จนกระทั่งไปดำเนินการรับโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินที่แท้จริงต้องได้รับความเสียหายแล้ว หาใช่ไม่เป็นความผิด เพราะโจทก์ทั้งสองไม่เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานที่ดินเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน โดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อขอใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แล้วรับโอนมรดกที่ดินมาเป็นชื่อของตนการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมเดียว ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 และศาลฎีกาเห็นต่อไปว่าทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่มาก นับเป็นเหตุบรรเทาโทษเห็นควรลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 สองครั้งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทในมาตราเดียวกัน จึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 บทเดียว จำคุกคนละ 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีประโยชน์ต่อการพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1