คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5259/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2545 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2545 และวันที่ 5 มิถุนายน 2545 คำร้องทั้งสองฉบับยื่นต่อศาลเมื่อสิ้นระยะเวลาฎีกาแล้ว ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้เฉพาะเมื่อมีเหตุสุดวิสัย คำร้องฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม 2545 โจทก์อ้างว่า โจทก์มอบให้นิติกรเป็นผู้ยื่นคำร้องในวันที่ 22 พฤษภาคม 2545 แต่นิติกรป่วยจึงไม่สามารถยื่นคำร้องได้ อีกทั้งคดีมีข้อเท็จจริงที่ยุ่งยากซับซ้อนและต้องเสนอให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาตามลำดับ แต่คดีมีข้อเท็จจริงยุ่งยากหรือไม่ และโจทก์ต้องเสนอให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาตามลำดับชั้นหรือไม่ ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้โจทก์ไม่อาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาภายในกำหนดระยะเวลาฎีกาได้ ส่วนการที่นิติกรป่วยนั้น หากจะเป็นจริง โจทก์ก็เป็นผู้มีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลและสามารถกระทำได้ภายในกำหนดระยะเวลาฎีกา จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเช่นกัน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ขยายเวลาฎีกาถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2545 ตามคำร้องของโจทก์ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม 2545 จึงไม่ชอบ และมีผลให้การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ขยายเวลาฎีกานับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2545 ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2545 ตามคำร้องของโจทก์ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2545 ไม่ชอบไปด้วย โจทก์ไม่มีสิทธิยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกับพวกแข่งรถจักรยานยนต์ในทางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 134, 160 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 33 ลงโทษจำเลยทั้งสามและสั่งริบรถจักรยานยนต์ของกลาง 3 คัน

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางคันหมายเลขทะเบียน ธยท กท 616 ซึ่งจำเลยที่ 2 ยืมไปใช้โดยผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ขอให้คืนรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวแก่ผู้ร้อง

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางและมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้คืนรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน ธยท กท616 ของกลางให้แก่ผู้ร้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ฟังเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2545 ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2545 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา 30 วัน นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2545 โดยอ้างเหตุว่าพนักงานอัยการศาลสูงประสงค์จะฎีกาแต่ยังไม่ได้รับคำพิพากษา คำให้การพยานและสรรพเอกสารต่าง ๆ ประกอบกับต้องเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จึงไม่อาจยื่นฎีกาได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด ศาลชั้นต้นสั่งว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาพ้นกำหนดที่จะฎีกาได้ ซึ่งตามคำร้องของโจทก์นั้นกรณีไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่จะขยายระยะเวลาฎีกาให้ได้ จึงให้ยกคำร้องวันที่ 28 พฤษภาคม 2545 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาว่า เนื่องจากในวันที่ 22 พฤษภาคม 2545 ซึ่งเป็นวันครบระยะเวลาฎีกา โจทก์ได้ขอขยายระยะเวลาฎีกาโดยมอบให้นิติกรเป็นผู้ขอขยายในวันที่ 22 พฤษภาคม 2545 แต่ในวันดังกล่าวนิติกรป่วยจึงไม่สามารถยื่นได้ทันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดอีกทั้งคดีนี้มีข้อเท็จจริงที่ยุ่งยากซับซ้อนประกอบกับจะต้องเสนอให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาตามลำดับชั้น จึงขอขยายระยะเวลาฎีกาออกไปอีก 15 วัน นับแต่วันครบกำหนด ศาลชั้นต้นสั่งว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กรณีมีเหตุสุดวิสัย จึงอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาฎีกาถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2545 ครั้นวันที่ 5 มิถุนายน 2545 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาอีก 30 วัน นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2545 โดยอ้างเหตุว่า พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลสูงประสงค์จะอุทธรณ์ (น่าจะหมายถึงฎีกา) และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้บังคับบัญชา แต่พนักงานอัยการศาลสูงยังไม่ได้รับเอกสาร คำพิพากษาคดีนี้ ทำให้ไม่อาจยื่นอุทธรณ์ (น่าจะหมายถึงฎีกา) ได้ทันภายในเวลาที่ศาลอนุญาตศาลชั้นต้นสั่งว่า อนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาเป็นครั้งสุดท้ายถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2545 เนื่องจากศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มานานกว่า 1 เดือน แล้วการที่พนักงานอัยการศาลสูงยังไม่ได้รับคำพิพากษาคดีนี้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่รีบดำเนินการเอง วันที่ 17 มิถุนายน 2545 โจทก์ยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ เห็นว่า การขอขยายระยะเวลาฎีกาเป็นการขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลมีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2545 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาเมื่อวันที่28 พฤษภาคม 2545 และวันที่ 5 มิถุนายน 2545 คำร้องทั้งสองฉบับยื่นต่อศาลเมื่อสิ้นระยะเวลาฎีกาแล้ว ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้เฉพาะเมื่อมีเหตุสุดวิสัย คำร้องฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม 2545 โจทก์อ้างว่า โจทก์มอบให้นิติกรเป็นผู้ยื่นคำร้องในวันที่ 22 พฤษภาคม 2545 แต่นิติกรป่วยจึงไม่สามารถยื่นคำร้องได้ อีกทั้งคดีมีข้อเท็จจริงที่ยุ่งยากซับซ้อนและต้องเสนอให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาตามลำดับ เห็นว่าคดีมีข้อเท็จจริงยุ่งยากหรือไม่ และโจทก์ต้องเสนอให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาตามลำดับชั้นหรือไม่ ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้โจทก์ไม่อาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาภายในกำหนดระยะเวลาฎีกาได้ ส่วนการที่นิติกรป่วยนั้น หากจะเป็นจริง โจทก์ก็เป็นผู้มีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลและสามารถกระทำได้ภายในกำหนดระยะเวลาฎีกา จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเช่นกัน คำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาของโจทก์จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ขยายเวลาฎีกาถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2545ตามคำร้องของโจทก์ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม 2545 จึงไม่ชอบ และมีผลให้การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ขยายเวลาฎีกานับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2545 ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2545 ตามคำร้องของโจทก์ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2545 ไม่ชอบไปด้วย โจทก์ไม่มีสิทธิยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ปัญหานี้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง, 225 ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 ซึ่งล่วงเลยกำหนดยื่นฎีกาดังกล่าวแล้ว จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาแก่โจทก์ และยกฎีกาของโจทก์

Share