คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3934/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ทรงใบตราส่งไม่ได้รับสินค้าที่สั่งซื้อที่ท่าเรือปลายทางจึงชำระเงิน 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง ให้แก่บริษัท ย. เจ้าหนี้ของจำเลยทั้งสองแทนจำเลยทั้งสองแล้วรับสินค้าไป ทั้งที่เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองจะต้องดำเนินการ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 หลายประการ ถึงแม้ในภายหลังโจทก์ที่ 1 จะได้ใช้เงินคืนให้โจทก์ที่ 2 แต่โจทก์ที่ 2 ก็ยังได้รับความเสียหายในส่วนอื่นอีกอันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเหตุให้ถูกบริษัท ย. ยึดหน่วงสินค้าไว้ จึงเป็นเรื่องที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งระหว่างโจทก์ที่ 2กับจำเลยทั้งสอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยมาตรา 26 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเรียกค่าเสียหายส่วนอื่นได้
จำเลยที่ 2 อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศโดยไม่มีสำนักงานหรือสาขาอยู่ในประเทศไทย จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการรับขนของทางทะเลระหว่างประเทศโดยมีบำเหน็จเป็นทางค้าปกติรวมทั้งในประเทศไทยด้วย ซึ่งในการประกอบกิจการในประเทศไทยจำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำการแทนและจำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญารับขนสินค้าทางทะเลกับโจทก์ที่ 1 ผู้ส่งแทนจำเลยที่ 2เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เป็นตัวการปฏิบัติผิดสัญญาไม่ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่โจทก์ที่ 2ผู้ทรงใบตราส่งเมื่อสินค้านั้นถึงเมืองท่าปลายทาง จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนต้องรับผิดสำหรับความเสียหายเนื่องจากการผิดสัญญานั้นต่อโจทก์ที่ 1 ผู้ส่งและโจทก์ที่ 2 ผู้ทรงใบตราส่งแต่ลำพังตนเอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824
จำเลยที่ 2 ปฏิบัติผิดสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยโจทก์ที่ 2 ต้องนำเงินไปชำระหนี้ให้บริษัท ย. แทนจำเลยที่ 2 ในวันที่ 13 ธันวาคม2540 จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 นับแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2540อันเป็นวันที่โจทก์ที่ 2 ได้ชำระเงินไป จึงต้องเริ่มคิดดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นเงินดอลลาร์ฮ่องกงที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้เป็นเงินต่างประเทศจึงตรงตามคำฟ้องแต่ที่กำหนดให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครโดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นวันทำการในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์ นั้นไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง และในเรื่องหนี้เงินต่างประเทศนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 196 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิลูกหนี้ชำระหนี้เป็นเงินไทยได้ และในวรรคสองบัญญัติไว้ว่าการเปลี่ยนเงินนี้ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงินดังนี้ จำนวนเงินบาทที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์จะเป็นจำนวนเท่าใดย่อมต้องคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนในเวลาที่มีการชำระหนี้แก่โจทก์จริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ค้าข้าวทั้งภายในและภายนอกประเทศ โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ต่างเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ซึ่งจดทะเบียนที่เมืองฮ่องกง มีวัตถุประสงค์ในการค้าข้าวและรับซื้อข้าวทั้งภายในและภายนอกประเทศ โจทก์ที่ 2 และที่ 3 มอบอำนาจให้นายกมล มานะธัญญา ดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนในประเทศไทยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีและประกอบกิจการรับขนของทางทะเลระหว่างประเทศเพื่อบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติ แต่ไม่มีสำนักงานหรือสาขาอยู่ในประเทศไทย จำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรับขนของทางทะเลแทนในประเทศไทย เมื่อประมาณต้นเดือนธันวาคม 2540 โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้สั่งซื้อข้าวสารบรรจุกระสอบจากโจทก์ที่ 1โจทก์ที่ 1 จึงว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าดังกล่าวจากท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรีไปส่งมอบให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ที่ท่าเรือปลายทางเมืองฮ่องกงโดยเรือฮอลลาลิเบอร์ตี้ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกใบตราส่งในนามของจำเลยที่ 2 และแบ่งปันค่าระวางขนส่งที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บจากโจทก์ที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองจึงเป็นผู้ร่วมกันขนส่งสินค้าข้าวสารบรรจุกระสอบรายนี้ เมื่อเรือฮอลลาลิเบอร์ตี้เดินทางไปถึงท่าเรือเมืองฮ่องกงในวันที่ 8 ธันวาคม 2540 ปรากฏว่าได้มีบริษัทหยวนฟัทวาร์ฟแอนด์โกดัง จำกัด ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 ใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมายของเมืองฮ่องกงดำเนินการยึดหน่วงสินค้าดังกล่าวทั้งหมด เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3ซึ่งเป็นผู้ทรงใบตราส่งไม่สามารถรับมอบสินค้านั้นได้โดยพลัน โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงปรึกษากับโจทก์ที่ 1 แล้วตกลงมอบหมายให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไปเจรจากับเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้ชำระค่าขนถ่าย ค่าจัดการต่าง ๆ ภายในท่าเรือและคลังสินค้าเป็นเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง และ 5,000 ดอลลาร์ฮ่องกงตามลำดับ ให้แก่เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 และรับสินค้าข้าวสารที่ขนส่งทั้งหมดไปหลังจากนั้นโจทก์ที่ 1 ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไปแล้วความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงมาจากจำเลยทั้งสองกระทำผิดสัญญารับขนของทางทะเลต่อโจทก์ทั้งสาม จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายจำนวน150,000 ดอลลาร์ฮ่องกง แก่โจทก์ทั้งสามพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันชำระเงินไปคือวันที่ 13 ธันวาคม 2540 จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยจำนวน10,920 ดอลลาร์ฮ่องกง รวมเป็นหนี้ถึงวันฟ้องจำนวน 160,920 ดอลลาร์ฮ่องกงโจทก์ทั้งสามทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 160,920 ดอลลาร์ฮ่องกง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 150,000 ดอลลาร์ฮ่องกง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม

ระหว่างการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ที่ 3ขอถอนฟ้องเฉพาะส่วนของตน ศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้วดำเนินคดีระหว่างโจทก์ที่ 1และที่ 2 กับจำเลยทั้งสองต่อไป

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่ใช่ผู้เสียหายเพราะโจทก์ที่ 1 ได้รับเงินค่าสินค้าจากโจทก์ที่ 2 เต็มจำนวนแล้วและกรรมสิทธิ์ในสินค้าตกเป็นของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีส่วนได้เสียอย่างใดในสินค้าอีก โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 2 ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้รับมอบสินค้าไปครบถ้วนตามใบตราส่งแล้ว จึงมิได้รับความเสียหายแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ไม่เคยประกอบกิจการขนส่ง แต่ประกอบกิจการเป็นตัวแทนเรือ โดยในคดีนี้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของเรือฮอลลาลิเบอร์ตี้มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศไม่มีสำนักงานหรือสาขาอยู่ในประเทศไทยได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรับขนของทางทะเลต่อหน่วยงานราชการต่าง ๆ โจทก์ที่ 1 ได้ติดต่อว่าจ้างจำเลยที่ 2ให้ขนส่งสินค้าข้าวสารบรรจุกระสอบตามคำฟ้องโดยติดต่อผ่านจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อในใบตราส่งในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 2 และรับเงินค่าระวางเรือไว้แทนจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าบำเหน็จตัวแทนมิใช่เงินค่าระวาง เงินค่าขนถ่าย ค่าจัดการต่าง ๆ ภายในท่าเรือและคลังสินค้าที่โจทก์ที่ 2 เรียกร้องมานั้นเป็นเงินที่โจทก์ที่ 2 จะต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว จึงไม่มีสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลยทั้งสอง โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มิได้ชำระเงินจำนวน100,000 ดอลลาร์ฮ่องกงให้แก่ผู้ใด เพราะไม่ได้แนบหลักฐานการจ่ายเงิน นอกจากนี้หากจำเลยที่ 1 หรือผู้ขนส่งจะต้องรับผิด ก็จำกัดความรับผิดตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 เพียงจำนวนไม่เกิน 200,000 บาทขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2ชำระเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 7,397 ดอลลาร์ฮ่องกง ทั้งนี้ โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร โดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นวันทำการในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์ ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษา และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 10,000 บาทให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 2 สำหรับจำเลยที่ 1 (ที่ถูก และให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วย) ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ

โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้แย้งกันว่าโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดในประเทศไทยโจทก์ที่ 2 จดทะเบียนนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดที่เมืองฮ่องกง ส่วนจำเลยที่ 2จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีและไม่มีสำนักงานหรือสาขาอยู่ในประเทศไทย จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรับขนของทางทะเลในประเทศไทย เมื่อประมาณต้นเดือนธันวาคม 2540 โจทก์ที่ 1 ได้ขายข้าวสารจำนวน 4,200 กระสอบ และ 7,000 กระสอบให้แก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 ได้จองระวางเรือกับจำเลยที่ 1 เพื่อขนส่งข้าวสารจากท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรีไปส่งมอบให้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ท่าเรือปลายทางเมืองฮ่องกงโดยใช้เรือฮอลลาลิเบอร์ตี้ของจำเลยที่ 2 เมื่อเรือฮอลลาลิเบอร์ตี้เดินทางไปถึงท่าเรือปลายทางเมืองฮ่องกง เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2540 ได้มีบริษัทหยวนฟัทวาร์ฟแอนด์โกดังจำกัด ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 ยึดหน่วงข้าวสารดังกล่าวไว้ เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2ไม่ได้รับมอบข้าวสาร ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2540 โจทก์ที่ 2 ได้รับมอบข้าวสารจากบริษัทหยวนฟัทวาร์ฟแอนด์โกดัง จำกัด และเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2541 โจทก์ที่ 1ได้โอนเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง ให้โจทก์ที่ 2

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ข้อแรกว่า โจทก์ที่ 2ได้รับความเสียหาย จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ พยานโจทก์ทั้งสองคือนางโสพรรณ มานะธัญญา ทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า โจทก์ที่ 2 ได้ติดต่อมายังพยานเพื่อปรึกษาหารือในเรื่องที่โจทก์ที่ 2 ต้องชำระค่าขนถ่ายสินค้าข้าวสารและค่าจัดการต่าง ๆ ภายในท่าเรือและคลังสินค้าที่จำเลยทั้งสองยังค้างชำระจำนวน 300,000 ดอลลาร์ฮ่องกง พยานได้นำเรื่องไปปรึกษากับกรรมการบริษัทโจทก์ที่ 1และมีความเห็นร่วมกันกับโจทก์ที่ 2 ที่จะชำระเงินจำนวน 300,000 ดอลลาร์ฮ่องกงโดยเงินจำนวน 200,000 ดอลลาร์ฮ่องกง จะได้คืนเมื่อส่งมอบตู้สินค้าเปล่าคืนให้แก่บริษัทหยวนฟัทวาร์ฟแอนด์โกดัง จำกัด ส่วนเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกงที่โจทก์ที่ 2 จะต้องเสียไปนั้น โจทก์ที่ 1 ตกลงจะคืนให้ในภายหลังเพราะโจทก์ที่ 1ได้รับเงินค่าสินค้าในราคา ซี.ไอ.เอฟ. ฮ่องกง เต็มจำนวนแล้ว และโจทก์ที่ 2 ได้ชำระค่าขนถ่ายและค่าจัดการต่าง ๆ ภายในท่าเรือ และคลังสินค้าที่ท่าเรือปลายทางเมืองฮ่องกงให้แก่จำเลยทั้งสองแล้ว จึงไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นใดที่จะต้องชำระอีก โจทก์ที่ 2จึงได้ติดต่อและชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่บริษัทหยวนฟัทวาร์ฟแอนด์โกดัง จำกัด เจ้าหนี้ของจำเลยทั้งสองแล้วเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2540 เห็นว่าการที่โจทก์ที่ 2 ต้องชำระเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง ให้แก่บริษัทหยวนฟัทวาร์ฟแอนด์โกดัง จำกัด เจ้าหนี้ของจำเลยทั้งสองแทนจำเลยทั้งสองทั้งที่เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองจะต้องดำเนินการนั้นย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 หลายประการรวมทั้งในเรื่องระยะเวลาการรับมอบข้าวสารที่ได้รับมอบล่าช้า การที่โจทก์ที่ 2 ต้องทดรองจ่ายเงินจำนวน100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง ไปก่อนย่อมทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับดอกเบี้ยของเงินจำนวนดังกล่าวด้วย ถึงแม้ในภายหลังโจทก์ที่ 1 จะได้ใช้เงินจำนวน 100,000ดอลลาร์ฮ่องกง คืนให้โจทก์ที่ 2 ก็ตาม แต่โจทก์ที่ 2 ก็ยังได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองในส่วนอื่นดังกล่าวอีก จึงเป็นเรื่องที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 45ประกอบด้วยมาตรา 26 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้วโจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น

ปัญหาที่ 2 ที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต่อไปมีว่าจำเลยที่ 1ร่วมกันกับจำเลยที่ 2 รับขนส่งสินค้าข้าวสารบรรจุกระสอบหรือจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศเข้าทำสัญญารับขนทางทะเลแทนจำเลยที่ 2 และต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 หรือไม่เห็นว่า นางโสพรรณ มานะธัญญา พยานโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า พยานได้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 เพื่อจองระวางเรือสำหรับขนส่งสินค้าดังกล่าวโดยได้มีการตกลงกันทำสัญญารับขนแบบซีวาย/ซีวาย ซึ่งโจทก์ที่ 1มีหน้าที่นำตู้คอนเทนเนอร์มาบรรจุสินค้าดังกล่าว ณ ที่ทำการของโจทก์ที่ 1 และนำเจ้าหน้าที่ศุลกากรมาตรวจสอบเพื่อปิดผนึกปากตู้คอนเทนเนอร์ จากนั้นโจทก์ที่ 1 ต้องนำตู้คอนเทนเนอร์ไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อนำเข้าระวางเรือฮอลลาลิเบอร์ตี้(HALLA LIBERTY) เที่ยวที่ วี.714 เอ็น (V.714 N) ต่อไป โดยจำเลยที่ 1 ได้นำตู้คอนเทนเนอร์เข้าระวางเรือแล้วเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2540 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1ได้ติดต่อให้พยานไปดำเนินการชำระค่าระวางขนส่งสินค้าดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1เรียกเก็บค่าระวางขนส่งเป็นเงินจำนวน 128,350 บาท สำหรับใบตราส่งเลขที่เอชเอเอ็มยูโอ (HAMUO) 30000912 และ จำนวน 128,350 บาท สำหรับใบตราส่งเลขที่เอชเอเอ็มยูโอ (HAMUO) 30000913 ซึ่งพยานได้ดำเนินการชำระค่าระวางขนส่งสินค้าดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จึงได้ออกใบตราส่งจำนวน 2 ฉบับ ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 สำหรับการดำเนินธุรกิจการรับขนของทางทะเลในประเทศไทยมอบให้แก่พยานเพื่อเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนทางทะเลในคดีนี้ ตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับโดยนางสาววันดี บริรักษ์ธนานันท์ ผู้จัดการฝ่ายบริการบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า ในคดีนี้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในประเทศไทยในการทำพิธีการรายงานเรือเข้าออกต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่ากองตรวจคนเข้าเมือง กรมศุลกากร การท่าเรือแห่งประเทศไทยแทนเจ้าของเรือหรือนายเรือ นอกจากนั้นจำเลยที่ 1 ยังได้รับแต่งตั้งมอบหมายให้สามารถลงชื่อในใบตราส่งในฐานะตัวแทนแทนนายเรือและเรียกเก็บเงินค่าระวางเพื่อโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 2 ได้ด้วย ตามสัญญาตัวแทนและหนังสือของจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 25สิงหาคม 2540 พร้อมคำแปลเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 และตามสำเนาใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแบบ ภ.พ.20 เอกสารหมาย ล.1 ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการทำสัญญารับขนของทางทะเลเท่านั้น จึงมิใช่เป็นผู้ขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 2 อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามโจทก์และจำเลยที่ 1รับกันว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในประเทศไทย เข้าทำสัญญาแทนจำเลยที่ 2 ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศโดยจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดภายใต้กฎหมายของประเทศสาธารณรัฐเกาหลี และไม่มีสำนักงานหรือสาขาอยู่ในประเทศไทย จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการรับขนของทางทะเลระหว่างประเทศโดยมีบำเหน็จเป็นทางค้าปกติรวมทั้งในประเทศไทยด้วย ซึ่งในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 2 ในประเทศไทยนั้น จำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำการแทนและจำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญารับขนสินค้าตามคำฟ้องทางทะเลกับโจทก์ที่ 1ผู้ส่งแทนจำเลยที่ 2 เช่นนี้ เป็นการที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนทำสัญญาดังกล่าวแทนจำเลยที่ 2 ผู้เป็นตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ เมื่อจำเลยที่ 2ผู้เป็นตัวการปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าวโดยไม่ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่โจทก์ที่ 2 ผู้ทรงใบตราส่งเมื่อสินค้านั้นถึงเมืองท่าปลายทางจำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนต้องรับผิดสำหรับความเสียหายเนื่องจากการผิดสัญญานั้นต่อโจทก์ที่ 1 ผู้ส่งและโจทก์ที่ 2 ผู้ทรงใบตราส่งแต่ลำพังตนเอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น

ส่วนที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์ที่ 2 นำเงินจำนวน 300,000ดอลลาร์ฮ่องกง ไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 ในวันที่ 13 ธันวาคม 2540 และมีผลให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง ดังนั้น ในวันดังกล่าวจึงเป็นวันที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ตามจำนวนที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟ้องพร้อมทั้งดอกเบี้ย มิใช่ต้องรับผิดในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ที่ 1ได้ชำระเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง ให้แก่โจทก์ที่ 2 ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ด้วย และจำเลยที่ 2 ปฏิบัติผิดสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยโจทก์ที่ 2 ต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระหนี้ให้บริษัทหยวนฟัทวาร์ฟแอนด์โกดัง จำกัด แทนจำเลยที่ 2ในวันที่ 13 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2นับแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2540 อันเป็นวันที่โจทก์ที่ 2 ได้ชำระเงินไป จึงต้องเริ่มคิดดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2541 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ที่ 1และที่ 2 ฟังขึ้น

อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระหนี้เป็นเงินดอลลาร์ฮ่องกงอันเป็นเงินต่างประเทศ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้เป็นเงินต่างประเทศนั้นตรงตามคำฟ้องของโจทก์ แต่ที่กำหนดให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครโดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นวันทำการในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์ ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษานั้นไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง และในเรื่องหนี้เงินต่างประเทศนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคหนึ่งบัญญัติให้สิทธิลูกหนี้ชำระหนี้เป็นเงินไทยได้ และในวรรคสอง บัญญัติไว้ว่าการเปลี่ยนเงินนี้ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน ดังนี้ จำนวนเงินบาทที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระแก่โจทก์จะเป็นจำนวนเท่าใดย่อมต้องคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนในเวลาที่มีการชำระหนี้แก่โจทก์จริง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันที่มีคำพิพากษาหรือในวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษานั้น หากในวันดังกล่าวอัตราแลกเปลี่ยน 1ดอลลาร์ฮ่องกง เป็นเงินบาทจำนวนมากกว่าอัตราแลกเปลี่ยนในวันชำระหนี้กันจริงก็จะมีผลทำให้จำเลยที่ 2 ต้องชำระหนี้ด้วยเงินบาทมากกว่าจำนวนเงินที่ต้องชำระและจะมีผลทำให้เงินบาทที่ชำระหนี้มีค่าเป็นเงินดอลลาร์ฮ่องกงในวันชำระหนี้จริงมากกว่าเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามคำฟ้อง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามาดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน7,397 ดอลลาร์ฮ่องกง หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะชำระเป็นเงินไทย ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาใช้เงิน แต่ต้องไม่เกินกว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์ฮ่องกงเป็นเงินบาทในวันที่มีคำพิพากษาหรือในวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษาตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share