คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1242/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ซื้อเอาเงินของผู้อื่นมาซื้อตึกจากผู้ขาย ผู้ซื้อย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องผู้ขายในกรณีที่ผู้ขายผิดสัญญาจะซื้อขายนั้นได้
โจทก์ฟ้องขอให้ทำลายนิติกรรมขายตึกระหว่างจำเลยที่ 1-2กับจำเลยที่ 3 และให้โอนตึกพิพาทให้แก่โจทก์ ถ้าโอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้ก็ขอให้จำเลยใช้เงินมัดจำคืน เมื่อโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 เสีย และขอถอนคำขอท้ายฟ้องเรื่องที่จะขอให้ทำลายนิติกรรม การซื้อขายและคำขอให้โอนตึกเสีย ก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1-2 ทราบเพราะจำเลยที่ 1-2 ต้องรับผิดในเรื่องคืนเงินมัดจำและดอกเบี้ยเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนทำลายนิติกรรมการซื้อขายตึกระหว่างจำเลยทั้ง 3 ให้จำเลยที่ 1-2 โอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นของโจทก์ ถ้าโอนไม่ได้ให้ใช้เงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1-2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ขายตึกให้จำเลยที่ 3 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจะขายตึกแถวพิพาทให้โจทก์ครั้งหนึ่ง เพื่อเจตนาลวงเอาเปรียบผู้อื่น จำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาอันแท้จริงจะซื้อขายตามสัญญาจำเลยได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์แล้ว และตัดฟ้องว่าคดีขาดอายุความ

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1-2 ได้ฟ้องขับไล่จำเลยในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยที่ 1-2 ได้เสนอขายตึกพิพาทแก่คนหลายคนเพื่อหาทางขับไล่จำเลยที่ 3 ๆ กลัวในที่สุดจำเลยที่ 3 รับซื้อตึกพิพาทเสีย

เมื่อสืบพยานจำเลยที่ 1-2 แล้ว โจทก์แถลงขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ๆไม่คัดค้าน ศาลอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 50,000 บาท และดอกเบี้ยนับตั้งแต่ 25 ก.ย. 91

โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้คิดดอกเบี้ยตั้งแต่ 26 ม.ค. 90

จำเลยที่ 1-2 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องอำนาจฟ้องนั้น ถึงแม้ว่าโจทก์จะเอาเงินของคนอื่นมาซื้อแต่สัญญาจะซื้อขายมีชื่อโจทก์เป็นคู่สัญญาโจทก์ก็ย่อมมีอำนาจ

การที่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 โดยไม่แจ้งให้จำเลยที่ 1-2 ทราบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคำขอท้ายฟ้องของให้ทำลายนิติกรรมการซื้อขายและถอนคำขอให้โอนตึกรายพิพาท คงเหลือแต่เรื่องคืนเงินมัดจำกับดอกเบี้ย ย่อมเป็นอำนาจของโจทก์ที่จะทำได้

ส่วนข้อเท็จจริงคงฟังเช่นเดียวกันศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

Share