แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้ายพ.ศ.2479 ความว่า”ถ้าผู้ใดเคยได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาให้จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ฯลฯ” นั้นหมายความถึงว่าผู้นั้นได้รับโทษโดยศาลพิพากษาให้จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง อีกนัยหนึ่งคือครั้งตามคำพิพากษา หามีข้อความใดในบทบัญญัตินี้แสดงให้เห็นว่าผู้นั้นได้หลุดพ้นโทษไปแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง เช่นกฎหมายลักษณะอาญาเรื่องผู้กระทำผิดไม่เข็ดหลาบนั้นไม่
จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาให้จำคุกมาแล้ว 3 คดีคือคดีแดงที่ 1221/2491 ฐานชิงทรัพย์ คดีแดงที่136/2492 ฐานลักทรัพย์คดีแดงที่ 769/2492 ฐานหลบหนีที่คุมขัง และปรากฏตามสำนวนคดีแดงที่ 136/2492 ว่าจำเลยรับโทษตามคำพิพากษาคดีแดงที่ 1221/2491 อยู่แล้วหลบหนีไปกระทำผิดในคดีแดงที่ 136/2492 นั้น ทั้ง 3 คดีนี้จำเลยจึงได้รับโทษจำคุกต่อเนื่องกันไป เพิ่งพ้นโทษไปคราวเดียว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2494 เช่นนี้ เมื่อจำเลยมากระทำผิดในคดี(ลักทรัพย์)ขึ้นอีก ศาลก็เพิ่มโทษกักกันจำเลยได้ (อ้างฎีกาที่1307/2480 และที่ 1514/2482)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นคนจรจัดและจำเลยได้ลักเอาสร้อยคอทองคำฯลฯ ของนางสาวอรุณไปรวมราคา 1,500 บาท จำเลยนี้เคยต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลมาแล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งอันมิใช่ความผิดฐานประมาทหรือลหุโทษ จำเลยไม่เข็ดหลาบ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 297, 73, 30 พระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ. 2479 มาตรา 4, 8, 9 ฯลฯ
จำเลยรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลอาญาพิพากษาว่าจำเลยผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 30, 297 ให้จำคุก 3 ปีตามมาตรา 297 ซึ่งเป็นกระทงหนัก เพิ่มโทษตามมาตรา 73 และปรานีตามมาตรา 59 กึ่งหนึ่งเป็นอันกลบลบกันไป ฯลฯ ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษกักกันนั้น ปรากฏว่าโทษในคดีที่ 1, 2, 3 นับติดต่อกันยังไม่เรียกว่าจำเลยได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้งถือว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาแล้วเพียงครั้งเดียว ให้ยกคำขอของโจทก์ข้อนี้เสีย และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าตามใบแดงแจ้งโทษท้ายฟ้อง จำเลยได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษามาแล้ว 3 คดี คือคดีแดงที่ 1221/2491 ฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 299, 59 คดีแดงที่ 136/2492 ฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 294,59 และคดีแดงที่ 769/2492 ฐานหลบหนีที่คุมขังตามมาตรา 163, 59 และปรากฏตามสำนวนคดีแดงที่ 136/2492 ของศาลอาญาว่าจำเลยรับโทษตามคดีแดงที่ 1221/2491 อยู่แล้วหลบหนีไปกระทำผิดในคดีแดงที่ 136/2492 นั้น ทั้งสามคดีนี้จำเลยจึงได้รับโทษจำคุกต่อเนื่องกันไปเพิ่งพ้นโทษไปคราวเดียวเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2494 เห็นว่าตามบทบัญญัติมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้ายพ.ศ. 2479 ซึ่งว่า “ถ้าผู้ใดได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาให้จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง ฯลฯ” นั้น หมายความว่าผู้นั้นได้รับโทษโดยศาลพิพากษาให้จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง อีกนัยหนึ่งคือครั้งตามคำพิพากษา หามีข้อความใดแสดงให้หมายความว่า ผู้นั้นได้หลุดพ้นโทษไปแล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง ดังเช่นบทบัญญัติในเรื่องผู้กระทำผิดไม่เข็ดหลาบตามกฎหมายลักษณะอาญานั้นไม่ ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วในคำพิพากษาฎีกาที่ 1307/2490 คดีระหว่างอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โจทก์ นักโทษชายคลิ้ง มงคลรัตน์จำเลยและที่ 1514/2482 คดีระหว่างอัยการจังหวัดปราจีนบุรี โจทก์นักโทษชายสายบัว ฟักฟูมศรี จำเลย และเห็นว่าจำเลยมีสันดานเป็นผู้ร้ายแล้ว
จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองให้เพิ่มโทษกักกันจำเลยตามพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ. 2479มาตรา 9 มีกำหนด 3 ปี อีกโสดหนึ่ง นอกนี้ยืน