แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดนั้น ศาลอาจกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์และรูปคดี ศาลอาจคำนวณให้ตามผลประโยชน์ที่จำเลยได้รับจากการละเมิด โดยไม่หักค่าใช้จ่ายก็ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2492 จำเลยได้จงใจละเมิดสิทธิโจทก์ โดยจัดละครของจำเลยออกแสดงต่อประชาชนเรื่อง”ดรรชนีนาง” ซึ่งเป็นบทละครที่โจทก์ประพันธ์ขึ้น โดยใช้นามปากกาว่า”อิงอร” เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายคือ
1. จำนวนค่าดูที่จำเลยเก็บได้ 10,000 บาท
2. โจทก์เสียหายในนามปากกาเป็นเงิน 50,000 บาท ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในนามปากกา เพราะได้เรียกค่าเสียหายฐานละเมิดสิทธิแล้ว และว่าค่าเสียหายที่เรียกสูงไป
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ละเมิดจริง จำเลยเก็บค่าดูได้ 7,000 บาทเศษ เงินนี้ควรที่โจทก์จะได้รับชดใช้ ส่วนค่าเสียหายในนามปากกาโจทก์ยังไม่ควรได้รับ พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 7,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเงิน 7,000 บาทนี้ ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 30% แล้วยังต้องแบ่งให้เจ้าของโรงมหรสพอีกครึ่งหนึ่ง พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 2,450 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เงินค่าอากรแสตมป์ 2,100 บาทเป็นเงินที่ผู้ดูจ่ายเป็นค่าภาษีให้แก่รัฐบาล จำเลยเป็นผู้เรียกเก็บแทนรัฐบาลเท่านั้น ศาลอุทธรณ์หักเงินจำนวนนี้ออกชอบแล้ว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์หักค่าเช่าโรงออกด้วยนั้น เห็นว่าหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ถ้าการเล่นละครของจำเลยขาดทุนจำเลยมิไม่ต้องใช้ค่าเสียหายหรือ จึงเห็นว่าสำหรับคดีนี้สมควรให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เท่าที่จำเลยเก็บค่าดูจากการแสดงละครได้ พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ 4,900 บาท