คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 503/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่บุคคลแสดงเจตนาอย่างไรออกไปแล้ว ภายหลังจะมาอ้างว่าตนไม่ได้ตั้งใจจะแสดงเจตนาเช่นนั้นแต่ทำขึ้นหลอกๆ เช่นนี้มิใช่นิติกรรมอำพราง เพราะคู่กรณีมิได้อำพรางนิติกรรมอื่นใดอีกเลย

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์จำเลยพิพาทกันเรื่องที่ดิน ซึ่งยังไม่มีหนังสือสำคัญอยู่ที่ตำบลวังเย็น อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยโจทก์ฟ้องว่าที่นาพิพาทเป็นของโจทก์ ได้มาโดยนางอู่มารดานางบุญธรรมภริยาโจทก์ยกให้ได้ครอบครองมาร่วม 17 ปี จำเลยทั้งสองได้บุกรุกเข้าแย่งทำนาพิพาท จึงขอให้ศาลแสดงว่านาพิพาทเป็นของโจทก์ ฯลฯ

จำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการ คงมีประเด็นที่พิพาทถึงชั้นฎีกาตามข้อต่อสู้ของจำเลยว่า เมื่อนางบุญธรรมตาย เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับนางอู่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันแบ่งว่า ให้ที่พิพาทตกได้แก่นางอู่ นางอู่ได้ร้องขอรับมรดกแล้ว และแสดงตนเป็นเจ้าของที่รายนี้สืบมา โจทก์ทำนารายนี้เมื่อ พ.ศ. 2493 โดยเช่านางอู่ เมื่อนางอู่ตาย จำเลยได้ประกาศรับมรดกจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่แล้ว ฯลฯ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ตกลงคืนที่พิพาท แก่นางอู่โดยทำหนังสือเป็นหลักฐานตามเอกสารหมาย 4 ที่โจทก์ว่า ทำเอกสารขึ้นเพื่อลวงนางอู่ให้หายบ้าจึงเป็นนิติกรรมอำพรางนั้น รับฟังเป็นจริงไม่ได้ โจทก์ทำนาปี พ.ศ. 2493 โดยเช่านางอู่ทำ จำเลยเป็นบุตรนางอู่และได้รับมรดกนางอู่ จึงมีสิทธิดีกว่า พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่โจทก์ว่าเอกสารหมาย 4 เป็นนิติกรรมอำพรางเพราะโจทก์ต้องการลวงนางอู่เพื่อให้หายจากการวิกลจริตนั้น ฟังไม่ได้เพราะคู่กรณีมิได้อำพรางนิติกรรมอื่นใดอีกเลย การที่บุคคลแสดงเจตนาอย่างไรออกไปแล้วภายหลังจะกลับบอกล้างว่าตนไม่มีความตั้งใจแสดงเจตนาเช่นนั้นโดยปราศจากการข่มขู่หรือกลฉ้อฉล หรืออีกนัยหนึ่งจะว่าตนทำไปหลอก ๆ นั้นฟังหาขึ้นไม่ ส่วนข้อที่โจทก์อ้างว่าครอบครองโดยปรปักษ์นั้นศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้เช่นนั้นจึงพิพากษายืน

Share