คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1432/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต่างฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้าง กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 3 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 1 เพียงผู้เดียวอุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย โดยที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้อุทธรณ์ ดังนั้นคดีของโจทก์ที่ 2 และที่ 3ย่อมยุติไปแล้ว เมื่อโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต่างใช้สิทธิที่โจทก์แต่ละคนมีอยู่ แม้จะฟ้องรวมกันมา แต่หนี้ของโจทก์แต่ละคนสามารถแยกออกจากกันได้ไม่ใช่หนี้ร่วมที่ไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้ เมื่อโจทก์ที่ 1 อุทธรณ์เพียงผู้เดียว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงไม่มีผลไปถึงคดีของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ป – 4756กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2539 เวลาประมาณ 1 นาฬิกา ขณะที่โจทก์ที่ 2 ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 คันดังกล่าวไปตามถนนตลาดใหม่ จากแยกวัดโพธิ์มุ่งหน้าไปทางแยกบางกุ้ง ในเขตอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีโจทก์ที่ 3นั่งมาด้วย เมื่อรถยนต์แล่นถึงสามแยกอักษรทอง มีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม – 2872 สุราษฎร์ธานี ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทด้วยความเร็วสูงล้ำเส้นกึ่งกลางถนนในลักษณะกลับรถหรือเลี้ยวขวาเข้าถนนซอยตัดหน้ารถยนต์คันที่โจทก์ที่ 2 ขับมาอย่างกะทันหัน เป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันชนกัน รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าซ่อมรถยนต์เป็นเงิน105,248 บาท โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส โจทก์ที่ 2 ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล 24,115 บาท ค่าพาหนะเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอีก 20,000 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน 44,115 บาท โจทก์ที่ 3 ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล 153,190 บาท ค่าพาหนะเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอีก50,000 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน 209,760 บาท หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 หลบหนีและจำเลยที่ 2 ไม่สามารถตกลงเรื่องค่าเสียหายกับโจทก์ทั้งสามได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 105,248 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ชำระเงิน 44,115 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ชำระเงิน 209,760 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 105,248 บาท 44,115 บาท และ 209,760 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ตามลำดับ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และไม่ได้มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาท แต่โจทก์ที่ 2เป็นฝ่ายขับรถยนต์โดยประมาทด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์ที่จำเลยที่ 1ขับมาและโจทก์ทั้งสามเรียกร้องค่าเสียหายสูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 105,248 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ชำระเงิน44,115 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ชำระเงิน 208,430 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 105,248 บาท 44,115 บาท และ 208,430 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 30 กันยายน 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสามโดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่โจทก์ทั้งสามและให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้ 2,000 บาท

จำเลยที่ 2 ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต่างฟ้องข้อบังคับให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกจ้าง กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 105,248 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 44,115 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน208,430 บาท และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 1 เพียงผู้เดียวอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยโดยที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้อุทธรณ์ ดังนั้นคดีของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ย่อมเป็นยุติหรือถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามในทางการที่จ้างแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสามทั้งที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 มิได้อุทธรณ์ด้วย โดยอ้างว่าความรับผิดดังกล่าวเกี่ยวกับการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลไปถึงโจทก์ที่ 2 และที่ 3ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคดีของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นอันยุติหรือถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปแล้วตามคำฟ้องปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต่างใช้สิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามที่โจทก์แต่ละคนได้รับ แม้จะฟ้องรวมกันมาแต่หนี้ของโจทก์แต่ละคนสามารถแยกออกจากกันได้ หนี้ของโจทก์แต่ละคนจึงไม่ใช้หนี้ร่วมที่ไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้ เมื่อโจทก์ที่ 1 อุทธรณ์เพียงผู้เดียว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่มีผลไปถึงคดีของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ทั้งที่คดีของโจทก์ที่ 2 และที่ 3ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเสียเองได้ โดยให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 คดีคงเหลือเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 แต่ปรากฏว่าคดีของโจทก์ที่ 1 มีทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่นายจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2และที่ 3 และให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา จึงไม่มีค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่จะต้องคืนให้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share