แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านระบุว่าโจทก์จะชำระค่าจ้างในวันทำสัญญา150,000 บาท และให้ถือว่าเป็นการชำระเงินงวดที่ 1 และชำระเงินงวดอีก 1,433,190บาท โดยแบ่งชำระรวม 21 งวด ภายในวันที่ 20 ของเดือน ส่วนที่เหลือ 3,694,110บาท จะชำระเมื่องานก่อสร้างทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้น แม้สัญญาไม่ได้กำหนดระยะเวลาการปลูกสร้างบ้านให้แล้วเสร็จไว้ แต่ก็อนุมานได้ว่าภายในระยะเวลาที่โจทก์ผ่อนชำระค่างวดครบ 22 งวด จำเลยจะต้องปลูกสร้างบ้านได้ไม่น้อยกว่าตามสัดส่วนของเงินค่าจ้างที่จำเลยได้รับชำระไปแล้ว แต่จำเลยก็ไม่ได้เริ่มลงมือปลูกสร้าง โจทก์จึงมีหนังสือสอบถามไปยังจำเลย และให้จำเลยกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จสมบูรณ์จำเลยก็มิได้มีหนังสือชี้แจงหรือโต้แย้งคัดค้าน เมื่อตามหนังสือสอบถามโจทก์ให้เวลาจำเลยอีก 4 เดือนเศษ จำเลยก็ยังไม่ปลูกสร้างบ้าน ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ภายในระยะเวลาอันสมควรแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม….” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้” และมาตรา 7 บัญญัติว่า “ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี” ดังนั้น เมื่อสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยของเงินที่จำเลยจะต้องใช้คืนแก่โจทก์ไว้ จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินที่จำเลยได้รับชำระแต่ละงวดจนกว่าจะใช้คืนเสร็จแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2539 โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างให้จำเลยปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัย โดยจำเลยเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์และแรงงานในการปลูกสร้างบ้านคิดค่าจ้าง 5,277,300 บาท โจทก์ชำระเงินวันทำสัญญา 150,000 บาท และชำระรายงวดอีกรวมเป็นเงิน 1,433,190 บาท รวมชำระเงินค่าจ้างให้จำเลย 1,583,190 บาทจำเลยไม่เคยลงมือปลูกสร้างบ้าน โจทก์บอกกล่าวหลายครั้งแต่จำเลยผัดผ่อนเรื่อยมาโจทก์ไม่ประสงค์จ้างจำเลยต่อไป จึงมอบอำนาจให้ทนายความบอกเลิกสัญญา ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินค่าจ้าง ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องและค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 2,905,433.60บาท และดอกเบี้ยของต้นเงินค่าจ้างและค่าเสียหายรวมจำนวน 2,583,190 บาท ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า สัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านไม่มีกำหนดระยะเวลาการปลูกสร้างและไม่ได้ให้อำนาจโจทก์ที่จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ทั้งสัญญาก็ไม่มีข้อตกลงให้โจทก์สามารถคิดค่าเสียหายและดอกเบี้ยจากจำเลยได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,905,433.60 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,583,190 บาท นับแต่วันที่ 2 ตุลาคม2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,583,190 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินที่จำเลยได้ชำระแต่ละงวดนับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2539 จนถึงวันที่ 20 มีนาคม 2541 รวม 22 งวด ตามรายการในเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 จนถึงวันฟ้อง และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 1,583,190 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2539 โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยปลูกสร้างบ้านในราคา5,277,300 บาท โจทก์ชำระเงินมัดจำและผ่อนชำระเงินตามสัญญารวม 1,583,190บาท จนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2541 จำเลยยังไม่ได้ปลูกสร้างบ้านที่รับจ้างตามภาพถ่ายสภาพที่ดินบริเวณที่จะปลูกสร้างบ้านหมาย จ.9
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้จำเลยฎีกาทำนองว่า สัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นสัญญาจ้างทำของที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาในการปลูกสร้างและส่งมอบบ้านให้แก่โจทก์ การที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญาดังกล่าวแก่จำเลย โจทก์จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ที่บัญญัติว่า “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้” เสียก่อน เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือหรือคำบอกกล่าวไปยังจำเลยเพื่อให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาแต่อย่างใด การที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.10 จึงไม่ถูกต้อง โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลย เห็นว่า สัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านเรือนตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งจำเลยจะต้องปลูกสร้างบ้านให้เสร็จแล้วโจทก์จะชำระเงินงวดสุดท้าย ซึ่งตามปกติจะต้องมีกำหนดระยะเวลาการปลูกสร้างบ้านให้แล้วเสร็จไว้ในสัญญาด้วย แต่ข้อความในสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับค่าจ้างและการชำระค่าจ้าง มีใจความในข้อ 2.1, 2.2 และ 2.3 ว่าโจทก์จะชำระค่าจ้างในวันทำสัญญาเป็นเงินจำนวน 150,000 บาท และให้ถือว่าเป็นการชำระเงินงวดที่ 1 และชำระเงินงวดอีกเป็นเงินจำนวน 1,433,190 บาท โดยแบ่งชำระรวม 21 งวด ตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญา ภายในวันที่ 20 ของเดือน และข้อ 2.4 มีว่า ส่วนที่เหลือจากการชำระตามข้อ 2.1, 2.2 และ 2.3 เป็นเงินจำนวน 3,694,110 บาท จะชำระเมื่องานก่อสร้างทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ตามแบบแปลนและรายละเอียดในการก่อสร้าง ดังนั้น แม้สัญญาดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลาการปลูกสร้างบ้านให้แล้วเสร็จไว้ก็ตาม ซึ่งในกรณีเช่นนี้น่าจะอนุมานได้ว่าภายในระยะเวลาที่โจทก์ผ่อนชำระค่างวดครบ 22 งวด จำเลยจะต้องปลูกสร้างบ้านให้แก่โจทก์ให้ได้ไม่น้อยกว่าตามสัดส่วนของเงินค่าจ้างที่จำเลยได้รับชำระจากโจทก์ไปแล้วแต่จำเลยก็ไม่ได้เริ่มลงมือปลูกสร้างบ้านแต่อย่างใด โจทก์จึงมีหนังสือลงวันที่ 17 เมษายน 2541 สอบถามไปยังจำเลยถึงความคืบหน้าในการปลูกสร้างบ้าน และให้จำเลยกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จสมบูรณ์ของการปลูกสร้างบ้าน ตามเอกสารหมาย จ.8 แต่จำเลยก็มิได้มีหนังสือชี้แจงหรือโต้แย้งคัดค้านอย่างใด สำหรับหนังสือที่โจทก์สอบถามจำเลยดังกล่าวนี้จำเลยโต้แย้งในคำฟ้องฎีกาว่าไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ได้ส่งและจำเลยได้รับจากโจทก์นั้น ศาลฎีกาตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว ปรากฏว่าจำเลยรับว่าได้รับหนังสือสอบถามเอกสารหมาย จ.8 แล้ว ข้อโต้แย้งของจำเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น และโดยหนังสือสอบถามฉบับดังกล่าวประกอบกับการที่โจทก์ให้เวลาจำเลยอีก 4 เดือนเศษ จำเลยก็ยังไม่ปลูกสร้างบ้านให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ภายในระยะเวลาอันสมควรแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เพียงใด ในปัญหาข้อนี้เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม…” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้” และมาตรา 7 บัญญัติว่า “ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี” ดังนั้น เมื่อสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยของเงินที่จำเลยจะต้องใช้คืนแก่โจทก์ไว้ จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินที่จำเลยได้รับชำระแต่ละงวดจนกว่าจะใช้คืนเสร็จแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องในอัตราร้อยละ 12 ต่อปีนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวน 1,583,190 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์