คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3645/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ปัญหาที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มีว่า ผู้เสียหายมีฐานะเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) หรือไม่ แต่เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์เสียแล้ว แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่าผู้เสียหายมีฐานะเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายดังกล่าว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ก็ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) แล้ว หากศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผู้เสียหายไม่มีฐานะเป็นผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ ศาลฎีกาก็ต้องพิพากษายกฟ้องดังนี้ ไม่ว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ไปในทางใดก็เป็นอันเอาผิดแก่จำเลยไม่ได้กรณีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไป ควรจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ (คำสั่งศาลฎีกา)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)สาขาพระราม 4 รวม 3 ฉบับ มอบให้แก่นายประวิทย์ เอี่ยมพรรัตน์ ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง ต่อมาเมื่อเช็คเหล่านั้นถึงกำหนดธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทุกฉบับ โดยให้เหตุผลว่า บัญชีปิดแล้ว ทั้งนี้จำเลยออกเช็คดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวมโทษจำคุก 3 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้เสียหายมิใช่ผู้ได้รับความเสียหายและไม่เป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย ไม่อาจมอบอำนาจให้นางสาวสมจันทร์ เอี่ยมพรรัตน์ ร้องทุกข์ การสอบสวนจึงไม่ชอบ เท่ากับไม่มีการสอบสวน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ผู้เสียหายมอบอำนาจให้นางสาวสมจันทร์เอี่ยมพรรัตน์ ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้เสียหายมีฐานะเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) หรือไม่ แต่เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์เสียแล้ว แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่าผู้เสียหายมีฐานะเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายดังกล่าว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ก็ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) แล้ว หากศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผู้เสียหายไม่มีฐานะเป็นผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ ก็ต้องพิพากษายืนให้ยกฟ้อง ดังนี้ไม่ว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ไปในทางใดก็เป็นอันเอาผิดแก่จำเลยไม่ได้ กรณีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไป”

ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

Share