คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1249/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ทางซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดที่ไปออกสู่ถนน เป็นทางที่โจทก์และประชาชนไม่สามารถใช้สัญจรไปมาได้ ทั้งไม่ใช่ทางสาธารณะ เพราะเป็นทางที่ต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่น เมื่อที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดมีที่ดินของบุคคลอื่นรวมทั้งที่ดินของจำเลยล้อมรอบอยู่จนไม่มีทางออกถึงถนนสาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นทางสาธารณะได้ โจทก์ทั้งเจ็ดย่อมมีสิทธิผ่านทางพิพาทซึ่งอยู่ภายในเขตที่ดินของจำเลยไปออกสู่ทางสาธารณะดังกล่าวได้ทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349วรรคแรก
รถยนต์เป็นพาหนะจำเป็นที่ประชาชนใช้ในการเดินทาง การที่จำเลยปิดกั้นทางพิพาทให้เหลือขนาดความกว้างประมาณ 1 เมตร ย่อมทำให้รถยนต์ไม่สามารถผ่านเข้าออกได้ เป็นการไม่เหมาะสมแก่สภาพการณ์ความเจริญของบ้านเมืองในปัจจุบันและในอนาคต การกำหนดให้จำเลยเปิดทางพิพาทซึ่งเป็นทางจำเป็นมีขนาดกว้าง 2.30เมตร เพื่อให้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้จึงเหมาะสมแล้ว
การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งในที่ดินให้การต่อสู้คดีว่าทางพิพาทไม่เป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ด เป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้โจทก์ทั้งเจ็ด ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นการยกข้อต่อสู้แทน จ. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินอีกคนหนึ่ง ผลแห่งคดีที่จำเลยเจ้าของรวมคนเดียวถูกฟ้อง ย่อมต้องผูกพัน จ. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งโจทก์ทั้งเจ็ดไม่จำต้องฟ้อง จ. ด้วย แต่สามารถฟ้องจำเลยแต่ผู้เดียวได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเจ้าของที่ดินโดยมีที่ดินของบุคคลอื่นรวมทั้งที่ดินของจำเลยล้อมรอบไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณประโยชน์ได้ โจทก์ทั้งเจ็ดต้องผ่านที่ดินของจำเลยและที่ดินของนายชนินทร์ ประเทืองมาศ ออกสู่ถนนสาธารณประโยชน์ซึ่งโจทก์ทั้งเจ็ดและบรรพบุรุษได้ผ่านที่ดินดังกล่าวมาเป็นเวลาประมาณ 70 ปี ต่อมาจำเลยได้ปลูกขนำและสร้างรั้วปิดกั้นทาง โดยจำเลยและนายชนินทร์ยินยอมยกที่ดินซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทางเดิมให้เป็นทางภารจำยอมเพื่อให้โจทก์ทั้งเจ็ดและบริวารออกสู่ถนนสาธารณประโยชน์ แต่เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดได้ทำถนนบนที่ดินที่จำเลยและนายชนินทร์ยกให้เป็นทางภารจำยอม ปรากฏว่าจำเลยได้นำเสาคอนกรีตมาปักกั้นถนนที่โจทก์ทั้งเจ็ดสร้างขึ้นบางส่วน ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดและบริวารไม่สามารถออกสู่ถนนสาธารณประโยชน์ได้ตามปกติ ขอให้พิพากษาว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมและทางจำเป็น และให้จำเลยเปิดทางพิพาทให้โจทก์ทั้งเจ็ดและบริวารใช้เป็นทางออกสู่ถนนสาธารณประโยชน์ กับให้จำเลยไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางภารจำยอม หากไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

จำเลยให้การว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดมีทางออกสู่ถนนสาธารณประโยชน์ได้หลายทาง ทางพิพาทจึงไม่ใช่ทางจำเป็น จำเลยไม่เคยทำสัญญายกที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดและบริวารใช้เป็นทางสาธารณะ และไม่เคยจดทะเบียนภารจำยอมและทางจำเป็นให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด โจทก์ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ไม่ได้พักอาศัยอยู่ในที่ดินจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกับนายจำเริญ จันมณี แต่คดีนี้โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องจำเลยเพียงคนเดียว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น ให้จำเลยเปิดทางพิพาทในที่ดินของจำเลยเพื่อให้โจทก์ทั้งเจ็ดและบริวารผ่านออกสู่ทางสาธารณะได้ตามปกติ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์ทั้งเจ็ดนำสืบโดยมีตัวโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6นายชนินทร์เจ้าของที่ดินทางทิศใต้ของที่ดินของจำเลยที่ทางพิพาทผ่านออกสู่ถนนสาธารณประโยชน์สายบ้านนอก – ในบ้าน นายธานี ไพโรจน์ภักดิ์ อดีตกำนัน ตำบลเกาะยอระหว่างปี 2516 ถึงปี 2534 และจ่าสิบเอกสมเกียรติ แก้วกระจ่าง สามีโจทก์ที่ 3เบิกความได้ความทำนองเดียวกันว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดมีที่ดินของบุคคลอื่นและที่ดินของจำเลยล้อมรอบอยู่ ไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณประโยชน์สายบ้านนอก – ในบ้านซึ่งเป็นทางสาธารณะได้ โจทก์ทั้งเจ็ดและบรรพบุรุษได้ใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยและที่ดินของนายชนินทร์ออกสู่ถนนสาธารณประโยชน์สายบ้านนอก – ในบ้าน มาเป็นเวลานานประมาณ 70 ปี รถยนต์สามารถผ่านเข้าออกได้ ทางที่ว่านี้คือทางที่ระบุว่าเส้นทางเก่าในแผนที่เอกสารหมาย จ.2 หรือแผนที่พิพาทสังเขปท้ายฟ้องเอกสารหมาย ล.7ต่อมาเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2538 จำเลยได้ปลูกขนำปิดกั้นทางดังกล่าว ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดไม่สามารถออกสู่ถนนสาธารณประโยชน์สายบ้านนอก – ในบ้าน ได้ตามปกติจำเลยตกลงให้โจทก์ทั้งเจ็ดเปลี่ยนไปใช้ทางพิพาทซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทางเดิมกว้าง 3 เมตร ยาว 22 เมตร คือทางที่ระบุว่าทางเดินใหม่ในแผนที่เอกสารหมาย จ.2 หรือทางพิพาทภายในกรอกเส้นสีแดงในแผนที่พิพาทสังเขปท้ายฟ้องเอกสารหมาย ล.7 โจทก์ทั้งเจ็ดได้ทำถนนเพื่อให้รถยนต์ผ่านเข้าออกและใช้ทางพิพาทดังกล่าวได้ประมาณ 7 วัน จำเลยจึงปิดกั้นทางพิพาทโดยเว้นทางพิพาทด้านทิศเหนือกว้าง 70เซนติเมตร ด้านทิศใต้กว้าง 90 เซนติเมตร ทำให้รถยนต์ผ่านเข้าออกไม่ได้ โจทก์ทั้งเจ็ดไม่สามารถใช้ทางพิพาทผ่านเข้าออกสู่ถนนสาธารณประโยชน์สายบ้านนอก – ในบ้านได้ ส่วนจำเลยนำสืบว่า ก่อนเกิดเหตุพิพาท โจทก์ทั้งเจ็ดเดินผ่านที่ดินของจำเลยและที่ดินของนายชนินทร์เข้าออกสู่ถนนสาธารณประโยชน์สายบ้านนอก – ในบ้าน ซึ่งเป็นทางสาธารณะ ต่อมาจำเลยปลูกบ้านในที่ดิน จำเลยจึงอนุญาตให้โจทก์ทั้งเจ็ดใช้ทางพิพาทชั่วคราวเป็นทางเดินกว้าง 1 เมตร ยาว 22 เมตร โดยไม่ประสงค์ให้โจทก์ทั้งเจ็ดใช้รถยนต์ผ่านเข้าออก ต่อมาโจทก์ทั้งเจ็ดทำเป็นถนนกว้างประมาณ 2 เมตร และใช้รถยนต์ผ่านเข้าออก จำเลยจึงห้ามปรามและให้นายยิน คงจินดามุณี สามีจำเลยนำเสาคอนกรีตไปปักกั้นให้เหลือทางกว้างประมาณ 1 เมตร เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำเบิกความของตัวโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 และพยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวข้างต้นประกอบแผนที่เอกสารหมาย จ.2 และแผนที่พิพาทสังเขปท้ายฟ้องเอกสารหมาย ล.7 แล้ว ทำให้เห็นได้ว่าที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดที่ดินของบุคคลอื่นรวมทั้งที่ดินของจำเลยล้อมรอบอยู่จนไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณประโยชน์สายบ้านนอก – ในบ้าน ซึ่งเป็นทางสาธาณะได้ ที่จำเลยนำสืบและฎีกาอ้างว่า โจทก์ทั้งเจ็ดมีทางอื่นที่สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้โดยผ่านถนนสายบ้านสวนใหม่ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดดังปรากฏตามคำเบิกความของตัวโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และจ่าสิบเอกสมเกียรติสามีโจทก์ที่ 3 ที่ตอบทนายจำเลยถามค้านทำนองเดียวกันว่า ทางทิศเหนือของที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดมีทางเดินไปออกสู่บ้านสวนใหม่ได้ แต่ในเรื่องนี้ตัวโจทก์ที่ 2 ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งเจ็ดถามติงว่า ทางไปออกสู่บ้านสวนใหม่ไม่มีสภาพเป็นทาง เพราะรก ทั้งไม่ใช่ทางสาธารณะแต่เป็นทางที่ต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่น ตัวโจทก์ที่ 3 ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ทางไปออกสู่บ้านสวนใหม่ ปัจจุบันทางดังกล่าวใช้ไม่ได้เนื่องจากรก กว้างเพียงประมาณ 1 ศอก เป็นทางขึ้นเขาและผ่านช่องเขา ไม่มีคนใช้แล้วตัวโจทก์ที่ 4 ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ทางไปออกสู่บ้านสวนใหม่ปัจจุบันเป็นทางแคบ คนเดินสวนกันไม่ได้และเป็นทางรกมีต้นไม้ขึ้น ใช้ทางดังกล่าวไม่ได้แล้วตัวโจทก์ที่ 6 ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ทางไปออกสู่บ้านสวนใหม่เป็นทางเล็ก จ่าสิบเอกสมเกียรติสามีโจทก์ที่ 3 ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งเจ็ดถามติงว่าทางไปออกสู่บ้านสวนใหม่ปัจจุบันเป็นป่ารกทึบและก่อนหน้านี้ไม่สามารถใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ นายธานีพยานโจทก์ทั้งเจ็ดก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าทางไปออกสู่บ้านสวนใหม่เป็นทางเดินระหว่างภูเขา ปัจจุบันเป็นป่ารกไม่มีคนใช้แล้วและนายชนินทร์พยานโจทก์ทั้งเจ็ดก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าทางไปออกสู่บ้านสวนใหม่ เป็นทางต้องข้ามภูเขา เป็นป่า รถจักรยานยนต์ก็ผ่านเข้าออกไม่ได้นอกจากนี้จำเลยก็เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งเจ็ดถามค้านว่า โจทก์ทั้งเจ็ดจะไปออกสู่ถนนทางบ้านสวนใหม่ได้จะต้องผ่านที่ดินของโจทก์ที่ 4 ที่ 5 และที่ดินของบุคคลอื่นอีกประมาณ 2 แปลง และนายยินพยานจำเลยซึ่งเป็นสามีจำเลยก็เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งเจ็ดถามค้านว่าก่อนถึงถนนทางบ้านสวนใหม่ โจทก์ทั้งเจ็ดจะต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นอีก 2 แปลง โดยที่ดินของบุคคลอื่นทั้งสองแปลงดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นทางสาธารณะ จากคำเบิกความของตัวโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และพยานทั้งสามของโจทก์ทั้งเจ็ดตลอดจนคำเบิกความของจำเลยและพยานจำเลยดังกล่าวฟังได้ความเจือสมกันว่า ทางซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดที่ไปออกสู่ถนนสายบ้านสวนใหม่ตามที่จำเลยกล่าวอ้างนั้น เป็นทางที่โจทก์ทั้งเจ็ดและประชาชนไม่สามารถใช้สัญจรไปมาได้ ทั้งไม่ใช่ทางสาธารณะ เพราะเป็นทางที่ต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นอีก ยิ่งกว่านั้น จำเลยก็ยังเบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งเจ็ดถามค้านอีกว่า เหตุที่จำเลยยกทางพิพาทกว้าง 1 เมตร ให้โจทก์ทั้งเจ็ดใช้เดินผ่านนั้น เนื่องจากโจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีเส้นทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะได้ เจือสมข้อนำสืบของโจทก์ทั้งเจ็ดดังกล่าวข้างต้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดมีที่ดินของบุคคลอื่นรวมทั้งที่ดินของจำเลยล้อมรอบอยู่จนไม่มีทางออกถึงถนนสาธารณประโยชน์สายบ้านนอก – ในบ้าน ซึ่งเป็นทางสาธารณะได้โจทก์ทั้งเจ็ดย่อมมีสิทธิผ่านทางพิพาทซึ่งอยู่ภายในเขตที่ดินของจำเลยไปออกสู่ทางสาธารณะดังกล่าวได้ ทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 วรรคแรก คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาข้อเท็จจริงไม่เหมือนกับคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพาทต้องกันว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า ทางพิพาทซึ่งเป็นทางจำเป็นควรมีขนาดกว้างเท่าใด จำเลยฎีกาสรุปใจความได้ว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยเปิดทางพิพาทกว้าง 2.30 เมตร เกินความจำเป็นที่โจทก์ทั้งเจ็ดจะต้องใช้นั้นเห็นว่า โจทก์ทั้งเจ็ดนำสืบว่า ทางเดิมหรือเส้นทางเก่าที่โจทก์ทั้งเจ็ดใช้ผ่านที่ดินของจำเลยและที่ดินของนายชนินทร์สามารถใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาภาพถ่ายทางพิพาทหมาย จ.8 เห็นได้ว่า ทางพิพาทตามภาพถ่ายดังกล่าวรถยนต์สามารถผ่านเข้าออกได้ และโจทก์ทั้งเจ็ดเคยใช้รถยนต์ผ่านทางพิพาทเข้าออกได้ประกอบกับสถานการณ์ความเจริญของบ้านเมืองในปัจจุบัน รถยนต์เป็นพาหนะจำเป็นที่ประชาชนใช้ในการเดินทาง จึงเป็นการสมควรที่จะเปิดทางพิพาทเพื่อให้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ การที่จำเลยปิดกั้นทางพิพาทให้เหลือขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร ย่อมทำให้รถยนต์ไม่สามารถผ่านเข้าออกได้ เป็นการไม่เหมาะสมแก่สภาพการณ์ความเจริญของบ้านเมืองในปัจจุบันและในอนาคต ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยเปิดทางพิพาทซึ่งเป็นทางจำเป็นมีขนาดกว้าง 2.30 เมตร เพื่อให้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้นั้น เป็นการเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า โจทก์ทั้งเจ็ดมีอำนาจฟ้องจำเลยโดยไม่ได้ฟ้องนายจำเริญ จันมณี ซึ่งเป็นเจ้าของรวมได้หรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 39040 ร่วมกับนายจำเริญ ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.3 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1359 บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก…” ดังนี้ การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งในที่ดินโฉนดเลขที่ 39040 ดังกล่าว ได้ให้การต่อสู้คดีว่าทางพิพาทซึ่งอยู่ภายในเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 39040 ไม่เป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ด จึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้โจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและถือเป็นการยกข้อต่อสู้แทนนายจำเริญซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินอีกคนหนึ่งตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวแล้วผลแห่งคดีนี้แม้จำเลยเจ้าของรวมคนเดียวถูกฟ้องก็ย่อมต้องผูกพันถึงนายจำเริญซึ่งเป็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่ง โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่จำเป็นต้องฟ้องนายจำเริญด้วย เหตุนี้โจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยแต่ผู้เดียวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันว่าโจทก์ทั้งเจ็ดมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share