แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้หนังสือรับสภาพหนี้จะมีข้อความชัดเจนว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ที่บริษัทจำเลยที่ 1 ซื้อวัสดุก่อสร้างจากโจทก์เพื่อนำไปก่อสร้างสถานบริการน้ำมัน โดยจำเลยที่ 2 จะได้รับเงินช่วยเหลือจากบริษัท บ. เมื่อได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าวแล้วจะชำระเงินให้แก่ห้างฯ โจทก์ทันทีก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์และผิดนัด จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันก็มีหน้าที่ต้องชำระหนี้นั้นแก่โจทก์ตามกฎหมาย ส่วนเงินที่นำมาชำระหนี้จะนำมาจากที่ไหนเป็นเรื่องของจำเลยที่ 2 ดังนั้น ข้อความที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 จะได้รับเงินช่วยเหลือจากบริษัท บ. และนำมาชำระหนี้แก่โจทก์นั้น จึงมีความหมายเพียงว่าเงินที่จำเลยที่ 1 จะนำมาชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ได้มาจากที่ไหนเท่านั้น หาใช่เป็นเงื่อนไขในการชำระหนี้อันจะทำให้โจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ชำระหนี้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 จ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างสถานีบริการน้ำมัน และจำเลยที่ 2ติดต่อให้โจทก์จำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จและวัสดุก่อสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ค้ำประกันการชำระเงินของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ 2 จึงทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองไม่ชำระเงินค่าสินค้าให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,627,944.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,514,367.20 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของสถานีบริการน้ำมันโดยเช่าที่ดินของจำเลยที่ 2 เป็นที่ตั้งสถานีบริการน้ำมันดังกล่าว จำเลยที่ 2 ไม่ได้จ้างจำเลยที่ 1 ให้ก่อสร้างสถานีบริการน้ำมัน แต่บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ว่าจ้าง จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ได้รับสิทธิแต่งตั้งให้เป็นผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน จึงอยู่ในฐานะตัวแทนเชิดของบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) คอยควบคุมดูและอำนวยความสะดวกในการก่อสร้าง เมื่อจำเลยที่ 1 ก่อสร้างล่าช้าเนื่องจากเกิดปัญหาในการสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจากโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงเข้าค้ำประกันหนี้และรับสภาพหนี้ต่อโจทก์โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับเงินจากบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) แล้ว จำเลยที่ 2 จะชำระเงินให้แก่โจทก์ แต่จนถึงขณะนี้บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ยังมิได้มอบเงิน 2,000,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินจากจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเรียกบริษัทบางจากปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า ไม่ได้เป็นผู้ซื้อ ผู้ติดต่อ หรือผู้ค้ำประกันในการจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จและวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ของโจทก์ ทั้งไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างหรือมอบหมายให้จำเลยที่ 2 เข้าค้ำประกันหนี้หรือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ จำเลยร่วมทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 1 ก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันบางจากให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดน้ำค้างออยล์ปิโตรเลียม โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างเอง การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ค่าสินค้าของจำเลยที่ 1 ที่ซื้อจากโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยร่วม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,514,367.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 6 มีนาคม 2541) ต้องไม่เกิน 113,577.54 บาทหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระจึงให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้จำนวนดังกล่าว ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่าจำเลยร่วมทำสัญญาเช่าที่ดินจากจำเลยที่ 2 เพื่อใช้ก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันและทำสัญญาแต่งตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดน้ำค้างออยล์ปิโตรเลียม เป็นผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันที่ก่อสร้างขึ้น ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวมีนายเดชา น้ำค้าง บุตรจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หลังจากนั้นจำเลยร่วมทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 1 ก่อสร้างสถานีบริการน้ำมัน โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่จัดหาวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างเอง ตามหนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันบางจากแบบเปิด จำเลยที่ 1 สั่งซื้อและรับวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างจากโจทก์หลายครั้ง และค้างชำระหนี้ค่าสินค้าดังกล่าวเป็นเงิน 1,514,367.20บาท แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้หรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือรับสภาพหนี้วรรคแรกมีข้อความชัดเจนในสาระสำคัญว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 ซื้อวัสดุก่อสร้างจากโจทก์เพื่อไปก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันจำนวนเงิน 1,514,367.20 บาท ส่วนในวรรคสองมีข้อความว่า “ด้วยข้าพเจ้าจะได้รับเงินช่วยเหลือจากบริษัทบางจากปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) ประมาณ 2,000,000 บาท เมื่อข้าพเจ้าได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าวแล้วข้าพเจ้าจะชำระเงินจำนวน 1,514,367.20 บาท ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดพารวยคอนกรีตทันที…” มีปัญหาว่า ข้อความดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่จำเลยที่ 2 ยังไม่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์จนกว่าจะได้รับเงินจากบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) คือ จำเลยร่วมก่อนหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์และผิดนัดชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันนั้นก็มีหน้าที่ต้องชำระหนี้นั้นแก่โจทก์ตามกฎหมาย ส่วนเงินที่จะนำมาชำระหนี้จำเลยที่ 2 จะนำมาจากที่ไหนเป็นเรื่องของจำเลยที่ 2 ดังนั้น แม้ตามวรรคสองของหนังสือรับสภาพหนี้จะระบุว่าเมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับเงินช่วยเหลือจากจำเลยร่วมแล้วจะนำมาชำระแก่โจทก์ทันที ก็หาใช่เงื่อนไขในการชำระหนี้อันทำให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์จนกว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือจากจำเลยร่วมก่อนไม่ เพราะไม่เช่นนั้นหากจำเลยร่วมมิให้เงินช่วยเหลือแก่จำเลยที่ 2 จะกลายเป็นว่าโจทก์ไม่มีทางจะได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 เลย ข้อความดังกล่าวจึงมีความหมายเพียงว่าเงินที่จำเลยที่ 1 จะนำมาชำระหนี้แก่โจทก์นั้นจำเลยที่ 2 ได้มาจากที่ไหนเท่านั้น หาใช่เงื่อนไขในการชำระหนี้อันทำให้โจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน