แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) ระบุว่า ห้างฯ จำเลยที่ 1 เช่ารถยนต์คันหนึ่งจากบริษัทโจทก์มีกำหนด 4 ปี ชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดการเช่าแต่มีสิทธิจะซื้อรถยนต์ที่เช่าจากโจทก์ได้ โดยบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังโจทก์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ดังนี้ สัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) ที่ทำต่อกันนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาเช่าแบบลีสซิ่งอันเป็นสัญญาเช่าทรัพย์อย่างหนึ่งที่โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์ที่เช่าให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าเมื่อครบกำหนดการเช่าแล้ว แต่สัญญานี้หาใช่สัญญาเช่าซื้อตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ไม่ เพราะในสัญญาเช่าซื้อนั้น เมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อย่อมโอนไปยังผู้เช่าซื้อทันที โดยค่าเช่าซื้อรวมไว้ทั้งค่าเช่าและค่าแห่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อด้วย และผู้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อในเวลาใดก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 แต่สัญญาเช่าแบบลีสซิ่งเมื่อผู้เช่าชำระค่าเช่าจนครบกำหนดการเช่าแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่ายังไม่ตกเป็นของผู้เช่าจนกว่าจะแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นของผู้ให้เช่าจนเกิดเป็นสัญญาซื้อขายระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่าเสียก่อนเงินค่าเช่าก็ไม่อาจถือว่ารวมค่าแห่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าไว้ด้วย และผู้เช่าไม่อาจบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดการเช่าได้ ดังนั้น เมื่อสัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) นี้มิใช่สัญญาเช่าซื้อ จึงไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 118 ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) รถยนต์จากโจทก์ 1 คัน ตกลงชำระค่าเช่า 48 เดือน เดือนละ 39,516.17 บาท ทุกวันที่ 4 ของเดือน วางเงินมัดจำการเช่า 174,000 บาท หากผิดนัดยอมให้โจทก์กลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าและมีสิทธิบอกเลิกสัญญารวมทั้งสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายต่าง ๆ มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าตั้งแต่งวดที่ 14 เป็นต้นมา วันที่ 23 มิถุนายน 2540 โจทก์ติดตามรถยนต์คืนได้และบอกเลิกสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 535,158.20 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 และ 3 เป็นลายมือชื่อปลอมทั้งตราประทับของโจทก์ในเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 มิใช่ตราประทับที่ได้จดทะเบียนไว้ที่กระทรวงพาณิชย์ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 ไม่มีตราประทับของโจทก์ และนางสาวนุชนาฎ ธัญเจริญการค้า ไม่ใช่กรรมการของโจทก์ นายโสภณ ธรรมปาโล ผู้รับมอบอำนาจ จึงไม่มีอำนาจลงชื่อในสัญญาเช่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาเช่าทรัพย์โดยสำคัญผิดว่าเป็นสัญญาซื้อขายรถยนต์ สัญญาเช่าเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์โดยกรรมการผู้มีอำนาจได้มอบอำนาจให้นายวินิตศักดิ์ ศรีวรรธนะ ฟ้องคดีนี้แทนเป็นการถูกต้อง เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ รุ่นอี 200 สีเขียว หมายเลขเครื่อง 111940 20 035475 หมายเลขตัวถังดับเบิลยูดีบี 124019 2 ซี 253836 ไปจากโจทก์กำหนดเวลาเช่า 4 ปี นับแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2542 ชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน เดือนละ 36,931 บาทภาษีมูลค่าเพิ่ม 2,585.17 บาท รวมค่าเช่าและภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินที่ต้องชำระเดือนละ39,516.17 บาท และชำระเงินมัดจำรวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีกเป็นเงิน 174,000 บาท ชำระค่าเช่างวดแรกในวันทำสัญญา งวดต่อ ๆ ไปทุกวันที่ 4 ของเดือนจนกว่าจะครบ หากผิดนัดยอมให้โจทก์กลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าได้ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) และหนังสือค้ำประกันเอกสารหมายจ.6 และ จ.7 ตามลำดับ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าให้โจทก์ 13 งวด และผิดนัดชำระค่าเช่าตั้งแต่งวดที่ 14 วันที่ 4 พฤศจิกายน 2539 ตลอดมา ในวันที่ 23 มิถุนายน2540 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าคืนให้โจทก์ต่อมาวันที่ 28สิงหาคม 2540 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและแจ้งกลับเข้าครอบครองถึงจำเลยทั้งสอง ตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 ตามลำดับ คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่าสัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) ตามเอกสารหมาย จ.6 เป็นสัญญาเช่าซื้อซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 หรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) เอกสารหมาย จ.6 มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1เช่ารถยนต์คันหนึ่งจากโจทก์มีกำหนดเวลา 4 ปี ชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน โดยจำเลยที่ 1ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดการเช่า แต่มีสิทธิที่จะซื้อรถยนต์ที่เช่าจากโจทก์ในวันที่ 4 ตุลาคม 2542 ราคา 325,233.64 บาท โดยบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังโจทก์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก่อนกำหนดดังกล่าวไม่น้อยกว่า 60 วัน ดังนี้ สัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) รายนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาเช่าแบบลีสซิ่งอันเป็นสัญญาเช่าทรัพย์อย่างหนึ่งที่โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์ที่เช่าให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าเมื่อครบกำหนดการเช่าแล้ว แต่สัญญาเช่นนี้หาใช่สัญญาเช่าซื้อตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ไม่ เพราะในสัญญาเช่าซื้อนั้น เมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว กรรมสิทธิในทรัพย์สินที่เช่าซื้อย่อมโอนไปยังผู้เช่าซื้อทันทีโดยค่าเช่าซื้อรวมไว้ทั้งค่าเช่าและค่าแห่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อด้วย และผู้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อในเวลาใดก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 แต่สัญญาเช่าแบบลีสซิ่ง เมื่อผู้เช่าชำระค่าเช่าจนครบกำหนดการเช่าแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่ายังไม่ตกเป็นของผู้เช่าจนกว่าผู้เช่าจะแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นของผู้ให้เช่าจนเกิดเป็นสัญญาซื้อขายระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่าเสียก่อน เงินค่าเช่าก็ไม่อาจถือว่ารวมค่าแห่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าไว้ด้วย และผู้เช่าไม่อาจบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดการเช่าได้ดังจะเห็นได้จากการที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าคืนให้แก่โจทก์แล้ว สัญญาเช่ารายนี้ก็มิได้เลิกกัน โดยโจทก์ต้องมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองอีกชั้นหนึ่ง เมื่อสัญญาเช่ารายนี้มิใช่สัญญาเช่าซื้อ จึงไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ก็ใช้เป็นพยานเอกสารในคดีแพ่งได้ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวกับจำนวนเงินที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ ซึ่งอาจมีผลกระทบถึงสิทธิของคู่ความในการอุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริงต่อไป จึงสมควรให้การวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวเป็นไปตามลำดับศาล”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวกับจำนวนเงินที่โจทก์เรียกร้อง แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี