คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7193/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาจำคุกจำเลย 8 ปี แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 3 ปี โดยในระหว่างการฝึกและอบรมให้จำเลยเรียนจนกว่าจะจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และให้จำเลยเรียนหลักสูตรวิชาชีพอย่างน้อย1 หลักสูตร จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ดังนั้น การที่จำเลยฎีกาขอให้มอบตัวจำเลยให้บิดามารดาไปโดยวางเงื่อนไขคุมความประพฤติจำเลยไว้นั้น จึงเป็นการฎีกากรณีที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษากำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 121(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ และกรณีเช่นนี้ไม่อาจมีการอนุญาตให้ฎีกาได้ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมานั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก 1 คน ซึ่งอายุพ้นเกณฑ์เยาวชนและแยกดำเนินคดีต่างหากแล้ว ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนลูกซอง ขนาด 12 ยิงประทุษร้ายนายอนุรัตน์ โสภาค ผู้เสียหายที่ 1 และนายอานนท์ กล้าเกิด ผู้เสียหายที่ 2 กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 1 ที่บริเวณหลังด้านซ้ายและถูกผู้เสียหายที่ 2 ที่บริเวณคอกับต้นขาขวาอันเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกายโดยมีเจตนาฆ่า จำเลยกับพวกร่วมกันลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล เนื่องจากผู้เสียหายทั้งสองได้รับการรักษาทันท่วงที ผู้เสียหายที่ 1 จึงไม่ถึงแก่ความตาย แต่ได้รับอันตรายสาหัส ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน และผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กายตามรายงานการชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจยึดเศษแว่นกระดาษแข็งกระสุนปืนลูกซองขนาด 12 จำนวน 4 อัน เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 91, 83, 80, 32 ริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288ประกอบมาตรา 80, 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ปรากฏว่าขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 17 (ที่ถูก 16) ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ลงโทษฐานพยายามฆ่า รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 8 ปี รวมจำคุก 16 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปีพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี และรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดบุรีรัมย์แล้ว เห็นว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสองอย่างอุกอาจ นับว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรงหลังเกิดเหตุไม่ปรากฏว่าได้มีการบรรเทาผลร้ายจากการกระทำของจำเลย แต่เห็นว่าจำเลยกระทำผิดเพราะความเยาว์วัยคึกคะนอง ขาดความยั้งคิด หากได้รับการอบรมขัดเกลานิสัยและความประพฤติ น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยยิ่งกว่าจะให้รับโทษจำคุก ดังนั้น เพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของจำเลย อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104(2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมามีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 3 ปี ในระหว่างการฝึกอบรมให้จำเลยเรียนจนกว่าจะจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและให้จำเลยเรียนหลักสูตรวิชาชีพอย่างน้อย 1 หลักสูตร ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดบุรีรัมย์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว อนุญาตให้อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาประการแรกมีใจความว่า จำเลยไม่มีความรู้ทางกฎหมาย ไม่ทราบว่าความผิดที่จำเลยกระทำหากเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตนเองหรือกระทำด้วยความจำเป็นจะเป็นเหตุให้ไม่ต้องรับโทษหรือเป็นเหตุบรรเทาโทษ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีได้จากรายงานการสืบเสาะของเจ้าหน้าที่นั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นแต่เพียงการกล่าวถึงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายลอย ๆ ไม่ได้ระบุชัดแจ้งว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวไม่ถูกต้องด้วยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอย่างไร ที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ส่วนฎีกาของจำเลยประการที่สองที่ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้มอบตัวจำเลยให้บิดามารดาไป โดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วยนั้น เห็นว่าคดีนี้ศาลจังหวัดบุรีรัมย์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย8 ปี แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมามีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 3 ปี โดยในระหว่างการฝึกและอบรมให้จำเลยเรียนจนกว่าจะจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและให้จำเลยเรียนหลักสูตรวิชาชีพอย่างน้อย 1 หลักสูตร จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ดังนั้น ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ จึงเป็นการฎีกากรณีที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษากำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 121(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 และกรณีเช่นนี้ไม่อาจมีการอนุญาตให้ฎีกาได้ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยมานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share