แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยประกอบกิจการรับจ้างทำสื่อโฆษณามาตั้งแต่ปี 2535 และในปัจจุบันยังประกอบการเป็นปกติ แม้ในช่วงระหว่างปี 2540 ถึง 2542 ผลประกอบการยังขาดทุนแต่ก็สามารถลดยอดขาดทุนลงได้มากในปี 2542 ส่วนผลประกอบการในปี 2543 ดีขึ้นมาก โดยจำเลยยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 เพื่อชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งของรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2543 มียอดรายรับหรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีก่อนปีปัจจุบันที่ยื่นแสดงรายการไว้สูงถึง50,779,121.63 บาท และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) แบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.1 และ ภ.ง.ด. 1 ก.) กับได้ชำระภาษีสำหรับเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม 2543 เป็นเงินประมาณ 700,000 บาท แม้เอกสารหนังสือเสนอขอชำระหนี้แก่โจทก์จะมิใช่เอกสารทางบัญชีที่แสดงรายได้และผลกำไรในปี 2543 แต่สามารถนำมาพิจารณาประกอบเพื่อแสดงถึงสถานภาพของจำเลยว่าการประกอบกิจการของจำเลยยังสามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยดี ประกอบกับโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้หลังจากศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เพียง 1 ปีเศษและจำเลยเคยยื่นข้อเสนอในการชำระหนี้แก่โจทก์ก่อนหน้าถูกฟ้องคดีนี้ ซึ่งโจทก์ก็มิได้โต้แย้งว่าจำเลยมิได้ยื่นข้อเสนอเช่นนั้น แสดงว่าจำเลยมิได้ละเลยในการชำระหนี้แก่โจทก์ ดังนั้นเมื่อไม่มีเจ้าหนี้รายอื่นยื่นฟ้องจำเลยและไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานโจทก์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น แสดงว่าจำเลยยังมีความน่าเชื่อถือในการประกอบกิจการและฐานะทางการเงินมิใช่เป็นเพียงการคาดคะเน ฉะนั้น เมื่อจำเลยยังประกอบกิจการอยู่เป็นปกติ ยังมีรายได้และผลกำไร จึงอยู่ในวิสัยและมีลู่ทางที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้ กรณียังมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 14
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยไม่ยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “…คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหรือไม่ ได้ความจากนางสาวจันทีไพพร พนักงานบัญชีของจำเลยและนายชัชชา อัชณาตระกูล กรรมการของจำเลยเบิกความประกอบเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.9 ว่า จำเลยประกอบกิจการรับจ้างทำสื่อโฆษณามาตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน มีพนักงานประมาณ 32 คน กิจการของจำเลยมีกำไรมาตลอด คงมีเฉพาะในปี 2541 ซึ่งประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจจำเลยเกิดปัญหาเรื่องเงินหมุนเวียนระยะหนึ่งจึงขาดทุน แต่ต่อมาในปี 2542 จำเลยเปลี่ยนแปลงการบริหารและปรับลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จึงมีรายได้แต่ละเดือนสูงขึ้นสามารถลดยอดขาดทุนสุทธิลงเหลือเพียง 490,854.03 บาท ตามงบการเงินเอกสารหมาย ล.4 ในปี 2543 จำเลยมีรายได้และผลกำไรมากขึ้นอาจชำระหนี้แก่โจทก์ได้จำเลยไม่เคยถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องคดี แต่ขณะเดียวกันจำเลยได้ยื่นฟ้องเรียกเงินจากลูกหนี้ของจำเลย จำเลยพยายามติดต่อขอชำระหนี้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่ตอบรับ เห็นว่าเมื่อจำเลยยังประกอบการเป็นปกติ แม้ในช่วงระหว่างปี 2540 ถึง 2542 ผลประกอบการยังขาดทุน แต่ก็สามารถลดยอดขาดทุนลงได้มากในปี 2542 ตามเอกสารหมาย ล.4และ ล.6 หรือ จ.8 ส่วนผลประกอบการในปี 2543 ดีขึ้นมาก โดยจำเลยยื่นแบบ ภ.ง.ด.51เมื่อเดือนสิงหาคม 2543 เพื่อชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งของรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2543 ตามเอกสารหมาย ล.9 ซึ่งในข้อ จ. ระบุว่า มียอดรายรับหรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีก่อนปีปัจจุบันที่ยื่นแสดงรายการไว้สูงถึง 50,779,121.63 บาทและยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) แบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด. 1 และ ภ.ง.ด.1 ก.) กับได้ชำระภาษีสำหรับเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2543 เป็นเงินประมาณ 700,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.7 และ ล.8 แม้เอกสาร ล.1 ถึง ล.9 จะมิใช่เอกสารทางบัญชีที่แสดงรายได้และผลกำไรในปี 2543 แต่สามารถนำมาพิจารณาประกอบเพื่อแสดงถึงสถานภาพของจำเลยว่าการประกอบกิจการของจำเลยยังสามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยดี ประกอบกับโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 กันยายน2543 หลังจากศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เพียง 1 ปีเศษ และจำเลยเคยยื่นข้อเสนอในการชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2543 ซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งว่าจำเลยมิได้ยื่นข้อเสนอเช่นนั้น แสดงว่าจำเลยมิได้ละเลยในการชำระหนี้แก่โจทก์ ดังนั้น เมื่อได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า ไม่มีเจ้าหนี้รายอื่นยื่นฟ้องจำเลยและไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานโจทก์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น แสดงว่าจำเลยยังมีความน่าเชื่อถือในการประกอบกิจการและฐานะทางการเงิน มิใช่เป็นเพียงการคาดคะเนของศาลอุทธรณ์ดังโจทก์อ้างแต่อย่างใด ฉะนั้น เมื่อจำเลยยังประกอบกิจการอยู่เป็นปกติยังมีรายได้และผลกำไร จึงอยู่ในวิสัยและมีลู่ทางที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้ กรณียังมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน