คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 542/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่าจำเลยที่ 9 รับจดทะเบียนชื่อและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. 2538 เป็นเรื่องพิมพ์ตัวเลข พ.ศ. ของระเบียบดังกล่าวผิดพลาดโดยพลั้งเผลอ เมื่อโจทก์ขอแก้ไขให้ถูกต้อง และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้แก้ไขแล้ว คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นที่แน่ชัดว่าโจทก์กล่าวอ้างระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางฯ ฉบับ พ.ศ. 2535 ไม่เคลือบคลุม
ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า SONY และโซนี่ของโจทก์เป็นที่แพร่หลายรู้จักกันทั่วไป จำเลยที่ 1 ก็รู้ การที่จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนคำว่าบริษัทโซนี่อิมเป็กซ์ จำกัด เป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 โดยใช้คำภาษาอังกฤษว่า SONYIMPEXCO.,LTD. โดยไม่มีส่วนสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องหรือได้รับอนุญาตจากโจทก์ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์จากความมีชื่อเสียงแพร่หลายของคำว่า SONY หรือโซนี่ โดยไม่สุจริต ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดคิดว่าจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทในเครือของโจทก์หรือมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับโจทก์ โจทก์ผู้เป็นเจ้าของชื่อนิติบุคคลคำว่า SONY และโซนี่จึงมีสิทธิเรียกให้ระงับความเสียหาย และขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้ใช้ชื่อดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 421 และมีสิทธิขัดขวางจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8 ในการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า SONY หรือโซนี่ ของโจทก์เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534มาตรา 47
ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนเป็นชื่อบริษัทเพราะอาจก่อให้เกิดการสำคัญผิดเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลักษณะ วัตถุที่ประสงค์ ฐานะของกิจการหรือโดยประการอื่นตามระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. 2535 ข้อ 21(5) จำเลยที่ 9 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการรับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท จึงชอบที่จะปฏิเสธการรับจดทะเบียนชื่อบริษัทจำเลยที่ 1ด้วยเหตุผลดังกล่าวแต่เมื่อรับจดทะเบียนไว้แล้ว ก็ต้องเพิกถอนชื่อออกจากทะเบียนนั้นเสีย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น โจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้าเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการคำว่า”SONY” และ”โซนี่” ซึ่งใช้กับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าและบริการอื่นอีกหลายประเภทรวมทั้งใช้เป็นชื่อนิติบุคคลของโจทก์ด้วย โจทก์ได้โฆษณาเผยแพร่จนมีชื่อเสียงแพร่หลายในหมู่สาธารณชนหลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทย และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับเครื่องหมายบริการในประเทศไทยแล้ว เมื่อระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม 2537 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ได้ร่วมกันใช้ชื่อดังกล่าวในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 โดยใช้ชื่อบริษัทและดวงตราบริษัทว่า “โซนี่ อิมเป็กซ์ จำกัด” และจำเลยที่ 9 ในฐานะนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้รับจดทะเบียนชื่อและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยจำเลยที่ 1ถึงที่ 8 รู้อยู่แล้วว่าชื่อดังกล่าวเป็นชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์และจำเลยที่ 9 รับจดทะเบียนโดยฝ่าฝืนระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. 2535 ทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ที่ผูกพันอยู่กับชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการดังกล่าวลดคุณค่าลง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ร่วมกันจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 โดยไม่ให้ใช้คำว่า”SONY” และ “โซนี่” หรือคำอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับคำดังกล่าวภายในเวลาที่ศาลกำหนด มิฉะนั้นให้จำเลยที่ 9 ดำเนินการถอดถอนชื่อและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 9 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 9 ห้ามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ใช้ ยื่นขอจดทะเบียนหรือเข้าเกี่ยวข้องไม่ว่าในทางใดกับชื่อทางการค้าเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการดังกล่าวของโจทก์ รวมทั้งชื่อหรือเครื่องหมายอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ดังกล่าว ทั้งนี้ไม่ว่ากับกิจการค้า สินค้า หรือบริการใด ๆ ทั้งสิ้น ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงชื่อและดวงตราของจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 9 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากจำเลยที่ 9 เป็นข้าราชการในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 วรรคแรก จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากโจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 9 กระทำละเมิดโจทก์โดยการรับจดทะเบียนชื่อและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม2537 แต่กลับอ้างเหตุแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 9 ให้ต้องรับผิดเนื่องจากมิได้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. 2538 โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ประดิษฐ์คำว่า “SONY” และ “โซนี่” จำเลยที่ 1ถึงที่ 8 กระทำการโดยสุจริตในการใช้ชื่อดังกล่าว ไม่ทำให้สาธารณชนหลงเชื่อว่าสินค้าหรือบริการของจำเลยที่ 1 เป็นของโจทก์ ชื่อทางการค้ายังไม่มีกฎหมายไทยให้ความคุ้มครอง ทั้งการใช้ชื่อดังกล่าวก็ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิด เนื่องจากลักษณะธุรกิจของบริษัทจำเลยที่ 1 กับโจทก์นั้นมีความแตกต่างกัน โจทก์จึงไม่เสียหาย จำเลยที่ 9 ได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1019 โดยชอบแล้วทั้งไม่มีกฎหมายใดห้ามรับจดทะเบียนชื่อนิติบุคคลที่ซ้ำกับชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการไว้โดยตรง การรับจดทะเบียนชื่อและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายตั้งแต่ก่อนฟ้องจึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2ถึงที่ 8 ดำเนินการเปลี่ยนแปลงชื่อและดวงตราของจำเลยที่ 1 เสียใหม่ และให้จำเลยที่ 9จัดการให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อและดวงตราของจำเลยที่ 1 เสียใหม่ ให้จำเลยที่ 2ถึงที่ 8 ร่วมกันใช้เงินเดือนละ 5,000 บาท แก่โจทก์ นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 29 กรกฎาคม2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะเปลี่ยนแปลงชื่อของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 9 ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 9 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษายกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้ศาลดังกล่าวมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้ศาลดังกล่าวรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 7 ถึงแก่ความตาย โจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกนายสุรมิตร เฉิดรัศมี และนางอุไร เฉิดรัศมี ทายาทของจำเลยที่ 7 เข้าเป็นคู่ความแทนศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8 ดำเนินการเปลี่ยนแปลงชื่อและดวงตราของจำเลยที่ 1 เสียใหม่ โดยมิให้ใช้คำว่า “SONY” และ “โซนี่” หรือคำอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับชื่อทางการค้าเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการคำว่า “SONY” และ “โซนี่” ของโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8 ไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยที่ 9 เพิกถอนชื่อและดวงตราของจำเลยที่ 1 เสีย ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 9ทั้งในชั้นศาลชั้นต้นและศาลฎีกาให้เป็นพับคำขออื่นให้ยก

จำเลยที่ 9 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 9 ว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ปัญหานี้จำเลยที่ 9 อุทธรณ์ว่า เดิมคำฟ้องบรรยายว่าจำเลยที่ 9 รับจดทะเบียนชื่อและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. 2538 แล้วขอแก้ไขคำฟ้องจาก พ.ศ. 2538 เป็น พ.ศ. 2535 ทำให้ไม่แน่ชัดว่าโจทก์กล่าวอ้างระเบียบฉบับใดนั้น เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่าจำเลยที่ 9 รับจดทะเบียนชื่อและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. 2538 เป็นเรื่องพิมพ์ตัวเลข พ.ศ. ของระเบียบดังกล่าวผิดพลาดโดยพลั้งเผลอ เมื่อโจทก์ขอแก้ไขให้ถูกต้องตรงกับความจริง และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้แก้ไขแล้ว คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นที่แน่ชัดว่าโจทก์กล่าวอ้างระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางฯ ฉบับ พ.ศ. 2535 และเป็นคำฟ้องที่แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหาข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับแล้วไม่เคลือบคลุม อุทธรณ์ของจำเลยที่ 9 ฟังไม่ขึ้นมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 9 รับจดทะเบียนชื่อนิติบุคคลจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับหรือไม่โจทก์มีหนังสือถ้อยแถลงของนายโทโมกิ มาบาชิ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายเครื่องหมายการค้าและแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ว่า โจทก์ได้ประดิษฐ์คำว่า SONY มาใช้กับสินค้าของโจทก์ตั้งแต่ปี 2498 และใช้คำดังกล่าวเป็นชื่อทางการค้านับแต่นั้นเป็นต้นมา ครั้นถึงปี 2501 โจทก์ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น โซนี่ คาบูชิกิ ไกชา หรือ SONY CORPORATION นายบุญมา เตชะวณิช ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ให้ถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับถ้อยแถลงของนายโทโมกิ มาบาชิและยืนยันว่าโจทก์ได้ใช้ชื่อคำว่า SONY เป็นชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้ากับสินค้าตลอดจนการบริการต่าง ๆ ในธุรกิจของโจทก์ในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยด้วย นางสาวนพวรรณ โชติภาวัต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ของบริษัทโซนี่ไทย จำกัด และนายวิรัช ศรีเอนกราช ทนายความซึ่งมีหน้าที่จัดเตรียมเอกสารเพื่อจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและการรักษาสิทธิพยานโจทก์เบิกความสนับสนุนว่า สินค้ายี่ห้อSONY มีจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2499 และโจทก์มีบริษัทอยู่ในเครือหลายบริษัทซึ่งก็ใช้คำว่า SONY เป็นคำขึ้นต้นทุกบริษัท นอกจากนี้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า SONY (โซนี่) ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2506 ตามเอกสารหมาย จ.25 ถึง จ.27และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า โซนี่ (ภาษาไทย) เมื่อปี 2514 ตามเอกสารหมายจ.28 จำเลยที่ 9 ไม่ได้นำสืบถึงความแพร่หลายของชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยเฉพาะคำว่า SONY และโซนี่ ให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า SONY และโซนี่ ของโจทก์เป็นที่แพร่หลายรู้จักกันทั่วไป จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8 ก็น่าจะรู้ถึงความมีชื่อเสียงแพร่หลายของคำว่า SONY และโซนี่ ซึ่งเป็นชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์เช่นเดียวกัน ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8 ขอจดทะเบียนคำว่าบริษัทโซนี่ อิมเป็กซ์ จำกัด เป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 โดยใช้คำภาษาอังกฤษว่า SONYIMPEX CO., LTD. โดยมีทุนจดทะเบียนเพียง 2,000,000 บาท โดยไม่มีส่วนสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องหรือได้รับอนุญาตจากโจทก์ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์จากความมีชื่อเสียงแพร่หลายของคำว่า SONY หรือ โซนี่ ซึ่งเป็นชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยไม่สุจริต ชื่อบริษัท จำเลยที่ 1 ย่อมจะทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดคิดว่าจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทในเครือของโจทก์หรือมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับโจทก์หากจำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจการค้าไปในทางที่เสื่อมเสีย ก็ย่อมกระทบกระเทือนถึงชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ และทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์ เนื่องจากการที่จำเลยที่ 1 มาใช้ชื่อเช่นเดียวกับโจทก์โจทก์ผู้เป็นเจ้าของชื่อนิติบุคคลคำว่า SONY และโซนี่ จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8 ระงับความเสียหาย และขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8 ใช้ชื่อดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 421 และมีสิทธิขัดขวางจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8 ในการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า SONY หรือโซนี่ ของโจทก์เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 47 นอกจากจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 4 ถึงที่ 8 จะใช้ชื่อโดยไม่สุจริตแล้ว ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ยังต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนและบริษัทด้วยเพราะคำว่า SONY และโซนี่ เป็นชื่อที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดการสำคัญผิดเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของ ลักษณะวัตถุที่ประสงค์ ฐานะของกิจการหรือโดยประการอื่นตามระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. 2535 ข้อ 21(5) จำเลยที่ 9 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการรับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท จึงชอบที่จะปฏิเสธการรับจดทะเบียนชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ด้วยเหตุผลดังกล่าว แต่เมื่อรับจดทะเบียนไว้แล้วก็ต้องเพิกถอนชื่อออกจากทะเบียนนั้นเสีย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 9 เพิกถอนชื่อและดวงตราของจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยที่ 9 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share