คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 827/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมเช็คของกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาแล้วนำเช็คปลอมดังกล่าวไปฉ้อโกงธนาคารผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับเงินไปถึง1,485,628.18 บาท นั้น ลักษณะความผิดเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบต่อความเชื่อถือระหว่างธนาคารซึ่งเป็นสถาบันการเงินและของประชาชนผู้สุจริตทั่วไปในการใช้เช็คนับเป็นการกระทำที่มุ่งแสวงหาประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนเสียหายของผู้อื่นและสังคมส่วนรวม กรณีไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้
ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่าบัตร เอ.ที.เอ็ม. เป็นทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด หรือเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32,33 แต่อย่างใด จึงไม่อาจริบบัตรดังกล่าวได้ ต้องคืนแก่เจ้าของ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันปลอมเช็คของกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตั๋วเงินอันเป็นเอกสารสิทธิตามกฎหมายที่แท้จริงของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา โดยจำเลยแก้ไขเช็คโดยเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินที่สั่งจ่ายให้แก่นางโซเลต้า พี. เกอร์ซอน จากจำนวน 28.13 เหรียญสหรัฐอเมริกา เป็นจำนวน35,928.13 เหรียญสหรัฐอเมริกา และแก้ไขวันสั่งจ่ายในเช็คดังกล่าวจากวันที่ 29กรกฎาคม 2540 (07-29-97) เป็นวันที่ 29 กรกฎาคม 2541 (07-29-98) โดยกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา และนางโซเลต้า พี.เกอร์ซอน ผู้ทรงเช็คมิได้รู้เห็นยินยอม ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่พบเห็นเอกสารดังกล่าวหลงเชื่อว่า เช็คฉบับดังกล่าวเป็นตั๋วเงินที่กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา สั่งจ่ายเงินตามจำนวนและวันที่แก้ไขให้แก่นางโซเลต้า พี.เกอร์ซอน จริง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา นางโซเลต้า พี.เกอร์ซอน ผู้อื่นและประชาชน และเมื่อวันที่ 17สิงหาคม 2541 เวลากลางวันภายหลังจากที่จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมเช็คดังกล่าวแล้วจำเลยใช้เช็คซึ่งเป็นตั๋วเงินปลอมนั้นโดยทุจริต โดยจำเลยฉ้อโกงธนาคารศรีนคร จำกัดสาขานานาเหนือ ผู้เสียหาย ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยชื่อนางโซเลต้า พี.เกอร์ซอน เป็นผู้มีชื่อในฐานะผู้รับเงินตามเช็ค และเช็คดังกล่าวลงวันที่สั่งจ่ายในวันที่ 29กรกฎาคม 2541 (07-29-98) กับสั่งจ่ายเงินจำนวน 35,928.13 เหรียญสหรัฐอเมริกาให้แก่นางโซเลต้า พี.เกอร์ซอน โดยปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งว่า จำเลยมิได้ชื่อนางโซเลต้า พี.เกอร์ซอน โดยจำเลยมีชื่อนามสกุลที่แท้จริงว่า นางสาวนอรา คาสติลโลคาลลวง และเช็คดังกล่าวลงวันที่สั่งจ่ายที่ถูกต้องในวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 (07-29-97) และสั่งจ่ายเงินจำนวนที่ถูกต้องเป็นเงินจำนวน 28.13 เหรียญสหรัฐอเมริกา โดยจำเลยยื่นแสดงเช็คดังกล่าวต่อพนักงานของธนาคารผู้เสียหาย เพื่อให้ธนาคารผู้เสียหายเรียกเก็บเงินตามเช็คไปยังธนาคารอเมริกันเอ็กซ์เพรสนิวยอร์ค จำกัด และธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ตามขั้นตอนและวิธีการของธนาคารแทนผู้ทรงเช็ค และโดยการหลอกลวงและปกปิดข้อความจริงดังกล่าวเป็นเหตุให้ธนาคารผู้เสียหายหลงเชื่อรับดำเนินการเรียกเก็บเงินตามเช็คและมอบเงินให้แก่จำเลยรับไป จำนวน 1,485,628.18 บาท ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ธนาคารผู้เสียหาย ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ธนาคารอเมริกันเอ็กซ์เพรสนิวยอร์ค จำกัด นางโซเลต้า พี.เกอร์ซอน ผู้อื่นและประชาชน เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยบัตรบริการเงินด่วน (บัตรเอทีเอ็ม) ของธนาคารผู้เสียหายจำนวน1 ฉบับ และต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจได้รับเช็คปลอมดังกล่าวจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จึงยึดไว้เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 264, 266, 268, 341 และ 342 และริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266(4), 268 วรรคแรก (ที่ถูก มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 266(4) และ 342(1) )เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนัก ฐานปลอมตั๋วเงินและใช้ตั๋วเงินปลอม เมื่อจำเลยเป็นทั้งผู้ปลอมและใช้ตั๋วเงินปลอม จึงให้ลงโทษฐานเป็นผู้ใช้ตั๋วเงินปลอมเพียงกระทงเดียวตามมาตรา 266(4) (ที่ถูก ไม่ต้องระบุ มาตรา 266(4)), 268วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 266(4) ตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมเช็คของกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา แล้วนำเช็คปลอมดังกล่าวไปใช้ฉ้อโกงธนาคารผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้มอบเงินให้แก่จำเลยรับไปจำนวนถึง 1,485,628.18 บาท นั้น ลักษณะของความผิดเป็นเรื่องที่ร้ายแรงและกระทบต่อความเชื่อถือระหว่างธนาคารซึ่งเป็นสถาบันการเงินและของประชาชนผู้สุจริตโดยทั่วไปในการใช้เช็คเป็นพยานหลักฐานนับเป็นการกระทำที่มุ่งแสวงหาแต่ประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนเสียหายของผู้อื่นและสังคมส่วนรวม ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่โทษจำคุกที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นหนักเกินไป เห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี

อนึ่งนอกจากนี้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบของกลางซึ่งมีบัตรบริการเงินด่วน(บัตรเอทีเอ็ม) ของธนาคารผู้เสียหายรวมอยู่ด้วยนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่าบัตรดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และ 33 แต่อย่างใดจึงไม่อาจริบบัตรนั้นได้ แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ไม่ริบบัตรบริการเงินด่วน (บัตรเอทีเอ็ม)ของกลาง โดยให้คืนของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share